นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะเห็นการขยายตัวได้มากกว่าอัตราขยายตัว 3-4% ในครึ่งปีแรก
เป็นผลจากการที่ธนาคารเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจผ่านการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อหมุนเวียนทางธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อนำไปใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ลูกค้ามีความต้องการในช่วงครึ่งปีแรก และยังมีความต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ มองว่าสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแรงและสภาพคล่องให้กับลูกค้าธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปชั่วคราว 2-3 เดือนจากการล็อกดาวน์ และกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ข้างหน้าก็ยังมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงอยู่มาก
ส่วนความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ ๆ ยังคงชะลอตัว และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะลูกค้าธุรกิจยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกว่าจะคลี่คลายลงอย่างชัดเจนเมื่อใด ทำให้ยังชะลอการตัดสินใจขยายธุรกิจและการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) พร้อมกับหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภายในเพื่อให้ธุรกิจยังไปต่อได้ อย่างไรก็ตามคาดวาจะเริ่มเห็นการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการลงทุนอีกครั้งในช่วงปี 64
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีลูกค้าธุรกิจบางส่วนที่มองหาโอกาสขยายธุรกิจ ผ่านการซื้อหรือควบรวมกิจการ หลังลูกค้าของธนาคารบางรายยังคงเจรจาขอซื้อสินทรัพย์หรือกิจการจากผู้ขายในจำนวนที่ไม่น้อยลง แต่การปิดดีลซื้อขายในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คงจะยังไม่ได้เห็นอย่างชัดเจน เพราะราคาขายยังให้ส่วนลดน้อย เพราะผู้ขายมองว่าสินทรัพย์หรือกิจการยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะที่ผู้ซื้อเองก็ยังไม่รีบตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ เพราะยังมองว่าในระยะอันใกล้ผู้ขายอาจจะลดราคาลงมาได้อีก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายได้อย่างเร็ว ก็จะทำให้สามารถเข้าซื้อกิจการได้ที่ราคาเหมาะสม ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 64 ที่ส่วนต่างราคาของผู้ซื้อและผู้ขายขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นก็จะเห็นการปิดดีลซื้อสินทรัพย์หรือกิจการเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการซื้อและขายสินทรัพย์ค่อนข้างมาก อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่เป็นโรงแรม ,อาหาร ภาคการผลิต และค้าปลีก ที่ยังมีความต้องการขยายกิจการออกไปทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ภาคธุรกิจเล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศ และเป็นกลุ่มประเทศที่เริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น
“ภาวะเช่นนี้ เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มของธุรกิจขนาดกลางที่เข้ามาจับมือกันเพื่อความอยู่รอดกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่บริษัทใหญ่ ๆ ในไทยที่มีความพร้อม จะอาศัยช่วงจังหวะนี้ในการซื้อกิจการเพื่อเติบโตและขยายฐานธุรกิจของตนเองออกไปในภูมิภาคอาเซียน จริงๆแล้วสถานการณ์โลกตอนนี้ไม่ได้มีแค่โควิด-19 เรื่องเดียว โควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งให้หลายสิ่งเกิดเร็วขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้แสดงศักยภาพที่จะดันตัวเองให้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง อาเซียนเด่นเรื่องอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน บริษัทต่าง ๆ ต้องสร้างคุณค่าเพิ่มให้ธุรกิจของตัวเอง
นายพรชัย กล่าว
ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย CIMBT เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/63 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยมีโอกาสออกมาติดลบหนักถึง -14% หดตัวหนักกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่หดตัวต่ำสุด -12.5% และในช่วงครึ่งปีหลังจะเริมเห็นการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย ทำให้ภาครัฐผ่อนคลายการล็อกดาวน์ โดยปัจจัยหลักที่ยังฉุดเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเดิม คือ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว
โดยภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะติดลบมากกว่า 10% เพราะการฟื้นตัวของตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ และยุโรปยังไม่กลับมา ส่วนของตลาดจีน แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่การสั่งสินค้ายังไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเกษตรและอาหารเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตอุตสาหกรรม และอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่เห็นคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ในโลกชะลอการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้ภาคการส่งออกไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันอยู่
ภาคการท่องเที่ยวก็ยังไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลจะทำ Travel Bubble ในช่วงที่เหลือของปีนี้หรือไม่ และยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้เมื่อใด หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ขาดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขณะที่รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศเองช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวได้น้อย รวมถึงการบริโภคยังชะลอตัว และยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หลังจากโครงการเราไม่ทิ้งกันที่ให้เงิน 5,000 บาทสิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งก็จะกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะยังติดลบราว 10% แต่ถือว่าฟื้นตัวจากครึ่งปีแรกมาบ้างเล็กน้อย
สำหรับปีหน้า มองว่าเศรษฐกิจแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศตะวันตก โดยอาศัยกำลังซื้อจากคนในประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีประชากรในประเทศมาก ทำให้กำลังซื้อในประเทศสูง อีกทั้งแต่ละประเทศในอาเซียนค้าขายภายในภูมิภาคกันค่อนข้างมาก แม้โดนผลกระทบโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจหดตัว แต่ปีหน้าถือว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนก็ยังมีศักยภาพ ในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คือ เวียดนาม เพราะปีนี้เวียดนามเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่เข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจชะลอ แต่ยังคงเป็นบวก โดยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะยังโตได้ 2-3% ในปีนี้ จากเดิมโตได้ 6-7% อีกทั้งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะมีการกลับมาเกิดรอบสองที่ดานัง แต่ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ขณะที่การส่งออก เวียดนามสามารถหาตลาดใหม่ๆ ชดเชยตลาดจีนในสหรัฐได้ อีกทั้งถ้ามองต่อไป การค้าการลงทุนกับยุโรปจะเดินหน้าได้ ผ่าน FTA ซึ่งยุโรปมีการย้ายฐานจากจีนเข้ามาสู่เวียดนามได้
“แม้จะยังไม่สามารถค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเรายังเชื่อว่าภูมิภาคนี้มีจุดแข็งภายในจากกำลังซื้อในประเทศ และจากชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตได้ดี อีกทั้งความเป็นเมือง (urbanization) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โตได้ดีปีหน้า แม้ปีนี้เศรษฐกิจอาจจะติดลบ ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่โดยรวมจะฟื้นตัวได้รวดเร็วปีหน้า”
นายอมรเทพ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 63)
Tags: CIMBT, ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย, ธุรกิจ, ผลประกอบการ, พรชัย ปัทมินทร, สินเชื่อ, อมรเทพ จาวะลา