ขาดแรงขับเคลื่อนท่องเที่ยว-ส่งออก
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -9% ถึง -7% จากเดิม -8% ถึง -5% เนื่องจากมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้ายังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดลง และสถานการณ์การจ้างงานยังเปราะบาง
ทั้งนี้ กกร.ปรับคาดการณ์การส่งออกหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -12% ถึง -10% จากเดิม -10% ถึง -7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงคาดการณ์เดิมที่ -1.5% ถึง -1%
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงฉุดหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยหลังการระบาดของโควิดยังเพิ่มสูงขึ้นและบางประเทศพบจำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่ (จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง เป็นต้น) ส่งผลให้การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศคงยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ขณะเดียวกัน เงินบาทที่ผันผวนและเริ่มมีทิศทางแข็งค่า ก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก
นอกจากนี้ กำลังซื้อครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนในตลาดจ้างงาน ยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กกร.จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน กกร. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อร่วมกันจัดเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยจะมีการผลักดันแผน 4 เรื่องเพื่อให้เกิดผลได้จริง ได้แก่
1.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Wellness 2.การยกระดับการเกษตรมูลค่าสูง 3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจเป้าหมาย และ 4. การยกระดับการเป็นศูนย์กลางด้านค้าและการลงทุนของภูมิภาค
โดยเมื่อได้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว จะนำไปหารือและเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ กกร.จัดตั้งคณะกรรมการภาษีเพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการทางภาษี (ภาษีสรรพากร) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว กกร.จะนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 63)
Tags: กกร., กลินท์ สารสิน, จีดีพี, ส่งออก, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย