วินาทีนี้ชาวโซเชียลทั้งหลายคงไม่มีใครไม่รู้จัก TikTok หรือ “ติ๊กต็อก” แอปสัญชาติจีนที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก แต่ใครจะคิดว่าแอปเรียกรอยยิ้มนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐกับจีน ความสำเร็จของแอปที่มีผู้ใช้งานประจำกว่า 800 ล้านบัญชีทั่วโลกได้กลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ตัวเองตกที่นั่งลำบาก
ปฐมบทเหยื่อการเมือง
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารจีนกับทหารอินเดียบริเวณเทือกเขาหิมาลัยจากข้อพิพาทเรื่องดินแดน ส่งผลให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย ส่วนทหารจีนได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ต่อมาในวันที่ 30 มิ.ย. รัฐบาลอินเดียได้ประกาศแบนแอปพลิเคชันจากจีน 59 แอป ซึ่งรวมถึง TikTok โดยอ้างถึงภัยคุกคามต่ออธิปไตย ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่งผลให้ TikTok สูญเสียตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีฐานผู้ใช้งานประจำกว่า 81 ล้านรายต่อเดือน และนี่คือปฐมบทการตกเป็นเหยื่อการเมืองของ TikTok
แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่สหรัฐก็กล่าวหาว่า TikTok เป็นสปายแวร์ที่รัฐบาลจีนใช้ดึงข้อมูลจากผู้ใช้งานชาวอเมริกันและส่งกลับไปยังประเทศจีน กองทัพสหรัฐถึงขั้นสั่งห้ามสมาร์ทโฟนของรัฐทุกเครื่องดาวน์โหลดแอป TikTok ถึงกระนั้นสหรัฐก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแบนแอปที่มีฐานผู้ใช้งานประจำกว่า 30 ล้านรายต่อเดือน จนกระทั่งอินเดียชี้โพรงให้กระรอก โดยในวันที่ 7 ก.ค. หรือหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่อินเดียแบน TikTok นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก็ประกาศว่าสหรัฐกำลังพิจารณาแบนแอปโซเชียลมีเดียของจีน ซึ่งรวมถึง TikTok จากนั้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมารับลูกทันที โดยขู่ว่าจะแบน TikTok เพื่อตอบโต้จีนที่ประสบความล้มเหลวในการรับมือกับโควิด-19 จนทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก
ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาลจีน
TikTok ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐมาโดยตลอด ทั้งยังพยายามแสดงจุดยืนว่าไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลจีน โดยบริษัท ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของแอปยืนยันว่า หากรัฐบาลจีนต้องการให้เซ็นเซอร์เนื้อหาหรือขอเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ TikTok จะไม่มีวันทำตาม และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เคยถูกขอให้ทำเช่นนั้น ขณะเดียวกัน TikTok ระบุว่าไม่ได้เก็บฐานข้อมูลผู้ใช้ไว้ในจีน และยืนยันว่ารัฐบาลจีนไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของ TikTok ได้
นอกจากนี้ TikTok ได้ถอนตัวออกจากฮ่องกงหลังจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในความเป็นอิสระของฮ่องกง เพราะภายใต้กฎหมายดังกล่าว ทางการสามารถขอให้บริษัทเทคโนโลยีส่งมอบข้อมูลผู้ใช้งานหรือลบเนื้อหาต่าง ๆ
ก่อนหน้านี้ในเดือนพ.ค. TikTok ได้จ้างนายเควิน เมเยอร์ อดีตผู้บริหารของดิสนีย์ มาเป็นซีอีโอของ TikTok เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูมีความเป็นสากล และลดภาพการเป็นแบรนด์จีนซึ่งทำให้หลายคนกลัวว่าอาจถูกสอดแนมหากใช้แอปนี้ อย่างไรก็ดี แม้จะพยายามแสดงจุดยืนอย่างเต็มที่ แต่หลายคนเชื่อว่าแอป TikTok ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลจีน เพราะมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่อ่อนไหวทางการเมืองหรือเป็นที่ถกเถียงในจีน เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับทิเบต ไต้หวัน หรือชาวอุยกูร์ เป็นต้น
แยกกันอยู่เรารอด
วันที่ 17 ก.ค. นายแลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาว แสดงความเห็นว่า การทำให้ TikTok เป็นบริษัทสหรัฐเต็มตัว เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าการแบนไม่ให้ใช้แอปดังกล่าวในสหรัฐ อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ได้ปฏิเสธแนวคิดการให้ ByteDance ขาย TikTok ให้กับบริษัทในสหรัฐ โดยยืนยันว่าจะออกคำสั่งแบน TikTok สถานเดียวเท่านั้น แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับทางบริษัทไมโครซอฟท์ และได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาว่าการแบน TikTok อาจทำให้เขาเสียฐานคะแนนที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.นี้ ผู้นำสหรัฐก็มีท่าทีเปลี่ยนไป
วันที่ 2 ส.ค. ไมโครซอฟท์ยืนยันว่ากำลังเจรจาซื้อกิจการของ TikTok ในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ บริษัทยังเผยด้วยว่าอาจเชิญนักลงทุนรายอื่น ๆ ในสหรัฐเข้ามาซื้อหุ้นของ TikTok แต่เป็นหุ้นส่วนน้อย พร้อมให้คำมั่นว่าจะยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดของชาวอเมริกันจะโอนกลับมายังสหรัฐและลบออกจากเซิร์ฟเวอร์ประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยินดีมอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามความเหมาะสมให้กับรัฐ ด้านประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า เขาไม่คัดค้านการที่ไมโครซอฟท์จะเข้าซื้อกิจการ TikTok ในสหรัฐ แต่หากการซื้อกิจการดังกล่าวไม่เกิดขึ้นภายในวันที่ 15 ก.ย. เขาก็จะสั่งแบน TikTok ทันที
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า บรรดาผู้บริหารของบริษัท ByteDance ต่างต้องการให้ TikTok แยกออกไปทำธุรกิจเอง มากกว่าที่จะขายให้ไมโครซอฟท์ ขณะที่นายจาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้ง ByteDance ยังมีท่าทีลังเลที่จะปล่อย TikTok ไปจากอ้อมอก แต่นายจางก็ตระหนักดีว่าไม่มีทางเลือกอื่น เพราะถ้าไม่ปล่อยไป TikTok ก็ต้องตาย ส่วนทางด้านหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีของรัฐบาลจีนประกาศกร้าวว่า จีนจะไม่ยอมให้สหรัฐ “ขโมย” บริษัทเทคโนโลยีของจีน พร้อมทั้งระบุว่าจีนมีวิธีการมากมายที่จะตอบโต้การกระทำของสหรัฐที่พยายามกดดันให้ ByteDance ขาย TikTok ให้ไมโครซอฟท์
“ความมั่นคงของชาติ” เป็นเหตุผลที่ฟังดูดีในการแบน TikTok แต่หลายคนเชื่อว่าสหรัฐต้องการ “ขโมย” ผลประโยชน์มหาศาลของ TikTok ไปเป็นของตัวเองมากกว่า ซึ่งจีนคงไม่ยอมง่าย ๆ แน่นอน ชะตากรรมของ TikTok จะเป็นอย่างไรคงได้รู้กันในอีกไม่นานนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 63)
Tags: TikTok, จีน, ติ๊กต็อก, สหรัฐ, อินเดีย, ฮ่องกง, เควิน เมเยอร์, แลร์รี คุดโลว์, แอปพลิเคชัน, โดนัลด์ ทรัมป์