นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์
“เงินบาทเปิดมาเช้านี้ค่อนข้างทรงตัวจากเย็นวานนี้ น่าจะเพราะยังขาดปัจจัยใหม่ ขณะที่ตลาดยังรอผลการประชุมคณะกรรมการการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัวเลขการจ้างงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค.” นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทน่าจะแกว่งแคบในกรอบระหว่าง 31.15-31.25 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (3 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.34573% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.38292%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 105.995 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 105.74/77 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.17625 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่อยูที่ระดับ 1.1742/1746 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.2270 บาท/ดอลลาร์
- โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ในเดือนมิถุนายน 2563 เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากเดือนพฤษภาคม 2563 ไปในทิศทางบวกทั้งในด้านยอดสินเชื่ออนุมัติและจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เนื่องจากโควิด-19 ลดความรุนแรงลงแล้ว ประกอบกับรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะประชุมร่วมกับผู้บริหารของ ททท. และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งหมด เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตการท่องเที่ยวของประเทศไทยกันใหม่ภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งตรวจสอบสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศทั้งระบบ ก่อนร่วมกันหาทางออกว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาหรือกำหนดทิศทางที่จะเดินต่อจากนี้อย่างไร ปัจจุบันทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันหมด แต่กลับ
ยังไม่มีใครที่เขียนภาพอนาคตที่เหมือนกันออกมาได้ - สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 54.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.6 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ส.ค.) ขานรับดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวแข็งแกร่งสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 ส.ค.) เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหนุนคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของดอลลาร์ได้สกัดแรงบวกในตลาดและทำให้สัญญาทองคำปิดตลาดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ เนื่องจากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสยังคงความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือคนว่างงาน โดยพรรคเดโมแครตต้องการให้รักษาวงเงินดังกล่าวไว้ที่ระดับ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 1.36 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 10.7%
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ค.จาก ADP, ดุลการค้าเดือนมิ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิ.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท