สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานข้อมูลสถิติสำคัญในไตรมาส 2/63 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 โดยพบว่ามูลค่าการเสนอขายตราสารทุน ช่วงครึ่งแรกของปีนี้พุ่งขึ้นมาที่ 113,369.31 ล้านบาท เทียบกับระดับ 39,270.76 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในส่วนนี้เป็นการเสนอขายในประเทศทั้งหมด แบ่งเป็น การเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 78,147.72 ล้านบาท จาก 4,057.14 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 62 และการเสนอขายครั้งต่อไป อยู่ที่ 35,221.59 ล้านบาท จากระดับ 35,213.62 ในช่วงครึ่งแรกของปี 62
ด้านการรอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีจำนวนรวม 19 บริษัท เทียบกับ 20 บริษัทในช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การเสนอขายหลักทรัพย์ IPO มีจำนวน 14 บริษัท และการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) 5 บริษัท ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปีก่อน เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ IPO จำนวน 14 บริษัท และเสนอขาย PP จำนวน 6 บริษัท
เมื่อแยกเป็นช่วงไตรมาส 2/63 มีจำนวนการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนรวม 10 บริษัท เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น เสนอขายหลักทรัพย์ IPO จำนวน 7 บริษัท และเสนอขาย PP จำนวน 3 บริษัท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เสนอขายหลักทรัพย์ IPO จำนวน 5 บริษัท และเสนอขาย PP จำนวน 5 บริษัท
สำหรับมูลค่าการเสนอขายตราสารหนี้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้มียอดรวม 733,383.60 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดรวม 1,290,001.97 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงในทุกกลุ่มประเภทเสนอขาย
แบ่งเป็นการเสนอขายในประเทศ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น 343,517.80 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 335,765.10 ล้านบาท ขณะที่เป็นการเสนอขายต่างประเทศ 54,100.70 ล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 62 แบ่งเป็นการเสนอขายในประเทศ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น 602,664.55 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 610,464.60 ล้านบาท ขณะที่เป็นการเสนอขายต่างประเทศ 76,872.82 ล้านบาท
เมื่อแยกเป็นช่วงไตรมาส 2/63 การเสนอขายตราสารหนี้ รวม 323,353.14 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับ 668,041.81 ล้านบาทในไตรมาส 2/62 แบ่งเป็น การเสนอขายในประเทศ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น 115,701.84 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 167,297.30 ล้านบาท ขณะที่เป็นการเสนอขายต่างประเทศ 40,354.00 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/62 แบ่งเป็น การเสนอขายในประเทศ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น 335,733.92 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 310,863.80 ล้านบาท และเสนอขายต่างประเทศ 21,444.09 ล้านบาท
ด้านมูลค่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 840 รุ่น เทียบกับ 850 รุ่นในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีทั้งสิ้น 1,830 รุ่น จาก 1,718 รุ่นในช่วงครึ่งแรกของปีก่อน
สำหรับธุรกิจจัดการลงทุน ณ สิ้นไตรมาส 2/63 มีทั้งสิ้น 1,518 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) 4,099,818 ล้านบาท ,กองทุนส่วนบุคคล 8,564 กองทุน NAV ที่ 1,095,003 ล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 372 กองทุน NAV ที่ 1,213,949 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูล่าสุดของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ณ สิ้นไตรมาส 1/63 มีทั้งสิ้น 8 กองทุน NAV ที่ 373,295 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1-4) ณ สิ้นปี 62 มีทั้งสิ้น 53 กองทุน NAV 157,574 ล้านบาท
ส่วนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 35,618 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 34,109 ล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 5 บริษัท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 119,229 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 77,543 ล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 8 บริษัท
ก.ล.ต. ระบุเพิ่มเติมว่า ภาพรวมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น ศูนยซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จำนวน 6 ราย , นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) 3 ราย , ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) จำนวน 1 ราย , ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) 4 ราย และ ICO Issuer จำนวน 0 ราย
ส่วนภาพรวมการระดมทุนด้วยวิธีคราวด์ฟันดิง ณ 30 มิ.ย.63 มีผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง จำนวน 4 บริษัท โดย 3 บริษัทให้บริการเฉพาะเสนอขายหุ้นคราวด์ฟันดิง โดยการระดมทุนด้วยวิธีคราวด์ฟันดิง แบ่งเป็น หุ้นคราวด์ฟันดิง จำนวน 2 บริษัท มูลค่า 30.34 ล้านบาท และหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง จำนวน 7 บริษัท มูลค่า 19.25 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 63)
Tags: ก.ล.ต., ตราสารทุน, ตราสารหนี้, ตลาดทุน, สินทรัพย์ดิจิทัล