นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น พร้อมหุ้นกรีนชู จำนวน 60 ล้านหุ้นกับบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนประมาณ 1,560 ล้านบาท
บริษัทมีแผนจะนำเงินจากการเพิ่มทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจและเตรียมขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่าง ๆ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ (MW) และ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้
ด้านนายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ ETC ที่ราคาหุ้นละ 2.60 บาท คิดเป็นการขายที่ราคากำไรต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 22 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้นในปีหน้าที่นักวิเคราะห์ประมาณไว้ เมื่อเทียบกับอัตรา P/E เฉลี่ยของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคที่ประมาณ 29 เท่า โดยการจองซื้อหุ้น IPO ของ ETC จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ. เบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ETC จองซื้อได้ไม่เกินจำนวน 95,802,973 หุ้น คิดเป็นสิทธิในการจองซื้อในอัตรา 40 หุ้น BWG ต่อ 1 หุ้นสามัญ ETC ในระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2563
นอกจากนี้ ETC ยังเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้น IPO ระหว่างวันที่ 7 -11 สิงหาคม 2563 ผ่านกลุ่มบริษัทผู้จัดจำหน่าย ได้แก่ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) บล.เคทีบี (ประเทศไทย) บล.เอเอสแอล บล.ไอร่า และบล.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ โดยมีกำหนดการจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
นางสาวปิ่นมณี เมฆมัณฑนา กรรมการผู้จัดการอาวุโสสายวาณิชธนกิจ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ ETC กล่าวว่า หุ้น IPO ของ ETC ได้รับกระแสความสนใจอย่างสูงจากการโรดโชว์ พบทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจาก ETC มีจุดแข็งอย่างมากด้านเชื้อเพลิงขยะจากบริษัทแม่คือ กลุ่มเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) เป็นผู้ประกอบการด้านกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
นอกจากนี้ ETC มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่ดี มีคณะผู้บริหารและทีมงานวิศวกรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีบริษัทย่อยเป็น บริษัทรับเหมาที่เชี่ยวชาญการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแบบครบวงจร รวมถึงบริหารและดูแลซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M)ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าขยะตัวแรกของตลาดหุ้นไทย ที่มีอนาคตไกล มีผลประกอบการดี มีอัตรากำไรสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงมากจากการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงกว่า 444 เมกะวัตต์
ETC มีทุนจดทะเบียน 1,120 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น และมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 362.39 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้น จากรายได้รวม 325.24 ล้านบาทในปี 2561 และรายได้รวม 184.10 ล้านบาทในปี 2560 และมีกำไรสุทธิ 56.80 ล้านบาท ในปี 2562 จากกำไรสุทธิ 65.35 ล้านบาท ในปี 2561 และขาดทุนสุทธิ 3.14 ล้านบาท ในปี 2560 เนื่องจากในปี 2561 และ 2562 มีการรับรู้รายได้ค่าไฟฟ้าเต็มปีจากโรงไฟฟ้า ETC
ล่าสุดในงวดไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 134.90 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 24.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูง 18% และในปี 2563 นี้ ETC คาดว่าจะรับรู้รายได้การขายไฟฟ้าได้เต็มปี จากโรงไฟฟ้าขยะ RH และ AVA ซึ่งมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหาด้านปริมาณขยะของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 63)
Tags: ETC, IPO, mai, ชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม, ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ, ปิ่นมณี เมฆมัณฑนา, ยูโอบี เคย์เฮียน, เคทีบี, เอกรินทร์ เหลืองวิริยะ, เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์, โรงไฟฟ้า