เตรียมให้ AOT ลงทุนศูนย์ซ่อมเครื่องบินอู่ตะเภาแทน THAI
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ยังคงเป้าหมายแผนพัฒนาขนส่งทางอากาศระยะ 15 ปี (2562-2576) ในการเพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินที่ 1.2 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งจะมีผู้โดยสารเข้ามาถึง 240 ล้านคน/ปี แม้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ธุรกิจการบินในปีนี้ ได้รับผลกระทบทั่วโลก
ขณะที่คาดว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศในปีนี้ของประเทศไทย จะอยู่ที่ประมาณ 41.8 ล้านคน และมีปริมาณเที่ยวบิน 5.5 แสนเที่ยวบินเท่านั้น จากเดิมภาพรวมธุรกิจการบินของประเทศไทยในปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสารที่ 165 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบินที่ 1.04 ล้านเที่ยวบิน ขณะที่ศักยภาพของสนามบินรองรับได้ที่ 150 ล้านคนซึ่งปริมาณผู้โดยสารจริงนั้นเกินขีดการรองรับ
ทั้งนี้ การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังดำเนินการไปตามแผนแม่บท และนโยบายของรัฐบาล โดย. ทอท. เตรียมลงนามสัญญากับผู้รับจ้าง โครงการงานจ้างก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี2567
ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อ ขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท ได้เสนอไปยัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาแล้วสำหรับการพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2569 รวมทั้งเดินหน้าการขยายสนามบินเชียงใหม่ 2 สนามบินพังงา หาดใหญ่ และ เชียงราย
โครงการศูนย์ซ่อมเครื่องบิน อู่ตะเภา (MRO) ซึ่งจะให้ทอท.เข้าไปดำเนินการแทน บมจ. การบินไทย (THAI) ที่มีการฟื้นฟู ซึ่งเชื่อว่า ทอท.มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้
ส่วนสนามบินภูมิภาคในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 29 แห่ง จะมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ในการก่อสร้าง รวมถึงการศึกษาก่อสร้างสนามบินเพิ่มเติม เพื่อขีดความสามารถในการให้บริการและรองรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้น
ด้านนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรมท่าอากาศยาน ยังคงเดินหน้าแผนการก่อสร้างขยายขีดความสามารถของสนามบิน 28 แห่ง เนื่องจากตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่า โรคโควิด-19 จะยุติในอีก 2-3 ปี หรือในปี2565-2566 สถานการณ์โลก การบินการเดินทางต่างๆ จะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562. และอีก 2 ปีต่อไป หรือปี2568 ทุกอย่างจะเป็นปกติ.ดังนั้น แผนการก่อสร้างขยายศักยภาพสนามบิน ทย. ทั้งหมดจะแล้วเสร็จพอดีกับที่ การบินจะกลับมาเติบโตตามปกติ
โดยในปี 2564 เสนอของบประมาณไว้ที่ 5,800 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินสนามบินบุรีรัมย์ และตรัง เป็นต้น ส่วนการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างศึกษา ได้แก่ มุกดาหาร นครปฐม พัทลุง สตูล บึงกาฬ พะเยา และกาฬสินธุ์. และการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบินตาก หัวหิน เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม ในการขยายหรือก่อสร้างสนามบินใหม่นั้นได้ให้ความสำคัญในการศึกษา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง EIA และ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งได้มอบนโยบายให้ทย.ดำเนินการตามรายงานที่ได้รับอนุมัติให้ครบถ้วน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 63)
Tags: AOT, ถาวร เสนเนียม, ทอท., ท่าอากาศยานไทย, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สนามบิน