เงินบาทเปิด 31.23 ต่อดอลล์ อ่อนค่าตามภูมิภาค

ตลาดรอติดตามประชุมกนง.-ตัวเลขศก.สหรัฐฯ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.23 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์

“เงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังมีแรงซื้อคืนกลับเข้ามาในดอลลาร์และขายทำกำไรในสกุลเงินอื่นตามสัญญาณทางเทคนิคขณะที่ตลาดยังขาดปัจจัยใหม่ๆ”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ระหว่าง 31.20-31.30 บาท/ดอลลาร์ โดยให้ติดตามตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

THAI BAHT FIX 3M (31 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.33491% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.38133%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 106.00 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ (31 ก.ค.) ที่อยู่ที่ระดับ 104.65 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1760 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ (31 ก.ค.) ที่อยู่ที่ระดับ 1.1859 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.2200 บาท/ดอลลาร์
  • กระทรวงการท่องเที่ยวฯ-ททท.จัดสัมมนาปลุกไทยเที่ยวไทย ดึงกีฬานำท่องเที่ยวจังหวัด แย้มเปิดต่างชาติเข้าภูเก็ต สธ.ชี้พื้นที่ปิด จัดการความปลอดภัยง่าย มั่นใจทัวร์จีนทะลักหลังเปิดประเทศ ด้าน ‘พิพัฒน์’ จ่อชงครม.ปลุกเที่ยวเฟส 2
  • ธนาคารออมสินเปิดหน้าบุกธุรกิจนอนแบงก์เต็มตัว ขีดเส้นอีก 6 เดือน ลงขันร่วมลงทุนปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนดอกเบี้ยแค่ 8-10% พร้อมเป็นผู้นำกดดอกเบี้ยเงินกู้ในธุรกิจลีสซิ่ง ช่วยคนรากหญ้าไม่ให้ถูกโขกดอกเบี้ย
  • “100 ซีอีโอ” ผวา “ศก.โลก-โควิดระลอก 2” ฉุดเศรษฐกิจ 5 เดือนสุดท้าย พบกว่า 71% อยากให้ครม.ชุดใหม่มีมาตรการระยะสั้น-ยาว ควบคู่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนเกือบครึ่งเชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเริ่มงานได้ทันที เร่งดันสภาพคล่องกำลังซื้อฟื้นท่องเที่ยว ประเมินจีดีพีปีนี้ติดลบ 10% หอค้าต่างประเทศแนะอุ้มตกงาน ช่วยผู้ประกอบการ
  • “ซีอีโอ” วอนรัฐเลือก รมต.ชำนาญงานร่วมครม. เคลื่อนนโยบายเป็นเอกภาพ อัดมาตรการผ่อนคลายภาษีลดดอกเบี้ยเน้นช่วยภาคเกษตร ดันส่งออกฟื้น ช่วยเอสเอ็มอีเร่งด่วน
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ซึ่งนานาชาติจะต้องวางแผนควบคุมโรคในระยะยาว เนื่องจากการแพร่ระบาดอาจกินเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 หดตัวลง 2.2% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้น
  • ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 72.5 ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.7 จากระดับ 78.1 ในเดือนมิ.ย.
  • สมาชิกสภาของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยารอบใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ได้ ในขณะที่มาตรการให้เงินช่วยเหลือพิเศษ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์กับชาวอเมริกันที่ตกงานราว 30 ล้านคนนั้น ได้หมดอายุลงแล้วในวันศุกร์ (31 ก.ค.)
  • ฟิทช์ เรทติ้ง ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ของสหรัฐลงสู่ “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” โดยระบุถึงความแข็งแกร่งด้านเครดิตที่ลดลง ซึ่งรวมถึงยอดขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคโควิด-19
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และรายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมิ.ย.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top