นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมากว่า 2 เดือนจะไม่พบผู้ป่วยในประเทศแล้วก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสองในประเทศได้จาก 3 สาเหตุ คือ
- มีผู้ป่วยติดเชื้อที่หลุดรอดระบบคัดกรองหลงเหลืออยู่ในประเทศ ซึ่งเห็นได้จากกรณีที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามซึ่งไม่พบผู้ป่วยนานนับ 100 วัน แต่กลับพบผู้ป่วยต่อเนื่องอีกครั้งจนต้องมีการปิดเมืองห้ามเข้าออก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
- พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อซึ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดกวดขันดูแลไม่ให้ผู้กักกันออกนอกพื้นที่ควบคุม ซึ่งเคยเกิดปัญหานี้ในประเทศออสเตรเลีย
- มีผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย
“ขณะนี้มีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 5-6 คน ซึ่งเป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และบอกได้เลยว่ามีความกดดันที่จะมีผู้ป่วยรายใหม่ได้จาก 2-3 สาเหตุ”
นพ.ธนรักษ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เราสามารถนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาเป็นบทเรียนในการวางมาตรการป้องกันดูแลไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมมือกันรักษาสุขอนามัยที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน องค์การอนามัยโลกและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาประเมินการดำเนินงานควบคุมปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทย โดยมีข้อสังเกตุว่าการลงทุนระยะยาวในระบบสาธารณสุข เช่น การจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบการจัดการทรัพยากรบุคคลในระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน ระบบบัญชาการเหตุการณ์ และระบบการเงินที่ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับตัวช่วยให้การรับมือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ, มีภาวะการนำร่วมที่ดี และนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดการปัญหา, การสื่อสารที่ชัดเจนและสอดคล้องกันทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ, ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมกันนี้ได้มีแนะนำให้มีการปรับปรุงระบบข้อมูลซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจแก้ปัญหา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ธนรักษ์ ผลิพัฒน์, โควิด-19