ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และ SMEs จำนวน 297 ราย กรณีผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ก.ค.63 ในภาพรวมพบว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจได้ผ่อนคลายลง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ประกอบการได้รับผลกระทบที่ลดลงต่อเนื่อง จากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองที่เข้าสู่ระยะที่ 5
การสำรวจแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การขนส่งสินค้าและการส่งออกสินค้า พบว่า มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 21 ดีขึ้นกว่าเดือน มิ.ย. ที่อยู่ในระดับร้อยละ 17.2
2.การนำเข้าสินค้า พบว่า มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 33.4 ดีขึ้นกว่าเดือน มิ.ย. ที่อยู่ในระดับร้อยละ 25.9
3.มาตรการ Social Distancing พบว่า มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 30.7 ดีขึ้นกว่าเดือน มิ.ย.ที่อยู่ในระดับร้อยละ 22.6
ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบที่ลดลงนี้ส่งผลดีไปยังการจ้างงาน สะท้อนจากการที่ภาคธุรกิจลดการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงานลงในเกือบทุกรูปแบบ ยกเว้นบางธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตที่ยังคงใช้นโยบายลดชั่วโมงการทำงานมากขึ้น ได้แก่ ภาคการค้าและกลุ่มที่พักแรมและร้านอาหาร ตามกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาไม่มาก
ขณะที่พบว่าผลกระทบด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคและปัญหาด้านขนส่งกลับมากขึ้นในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผลิตเครื่องจักรและกลุ่มบริการทางการเงินที่ได้รับผลกระทบทางลบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายลดลง ซึ่งส่งผลถึงความต้องการเครื่องจักร การขยายสินเชื่อ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 63)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ผลสำรวจ, พฤติกรรมผู้บริโภค, ภาคธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย