พาณิชย์แนะกลยุทธ์ส่งออกช่วงโควิด เน้นเจาะตลาดศักยภาพที่ฟื้นตัวเร็ว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยกดดันการค้าโลก ซึ่งองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าในปี 2563 การค้าสินค้าของโลกจะหดตัวในช่วง -13% ถึง -32% ปัจจุบันสถานการณ์การค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้การฟื้นตัวในปีหน้าก็ยังยากที่จะคาดเดา

สนค.เห็นว่าเศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ดังนั้นกลยุทธ์การส่งออกควรให้ความสำคัญกับตลาดศักยภาพที่มีแนวโน้มฟื้นตัวก่อน โดยการพิจารณาตลาดศักยภาพสามารถพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ เป็นประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อในอัตราที่ต่ำลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับดำเนินการได้อีกครั้ง เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้จัดทำดัชนีวัดความเข้มงวดของรัฐบาลแต่ละประเทศในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 หรือ ดัชนี OxCGRT ครอบคลุมมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดโรงเรียน และการจำกัดการเดินทาง มาตรการด้านเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนรายได้ให้ประชาชน และการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ

และมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น ระบบการตรวจหาโควิด-19 และการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยดัชนี OxCGRT มีค่าระหว่าง 1-100 ซึ่งจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว รวมทั้งไทย อยู่ในกลุ่มรัฐบาลที่รับมือกับไวรัสโควิด-19 ได้ดี

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ตลาดศักยภาพยังสามารถสะท้อนจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ส่งสัญญาณแนวโน้มฟื้นตัวของประเทศนั้นๆ อาทิ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index หรือ PMI) ซึ่ง PMI เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกถึงภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังเป็นตัวชี้วัดที่ถูกนำไปใช้เพื่อประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย

จัดทำโดยสถาบันมาร์กิต (Markit) จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในธุรกิจเอกชนกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งค่า PMI ที่เกินกว่า 50 แสดงถึงภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ขยายตัว อีกทั้งยังสะท้อนมุมมองเชิงบวกของภาคเอกชนที่มีต่อภาคเศรษฐกิจ โดยในเดือน มิ.ย.63 พบว่าประเทศที่มีค่า PMI เกินกว่า 50 ได้แก่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลีย

ขณะที่ธนาคารโลกได้ออกรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจล่าสุด ในปี 2563 โดยระบุว่าประเทศที่ยังคงสามารถรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับบวกได้ และคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา ลาว และบางประเทศในแอฟริกา

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กลยุทธ์การส่งออกของไทยต้องให้ความสำคัญกับตลาดที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวก่อน สรุปเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณา ได้แก่ (1) การควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี (2) การคาดการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในระดับบวก และ (3) มุมมองที่เป็นบวกของภาคเอกชนในประเทศนั้นๆ

โดยประเทศที่ สนค.เห็นว่าเป็นตลาดศักยภาพในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก (จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้) และอาเซียน (มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และสปป.ลาว) ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 การส่งออกไปจีน และฮ่องกง ขยายตัวเป็นบวกที่ 5.8% และ 1.4% ตามลำดับ

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แม้การส่งออกในภาพรวมจะหดตัวแต่หดตัวในอัตราที่ลดลง และสินค้าบางรายการยังสามารถรักษาระดับการเติบโต โดยเฉพาะสินค้าอาหาร และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป

ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและสุขอนามัยของสินค้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าในปัจจุบันและช่วงหลังโควิด ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ส่งออกยังต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal เพื่อหาจุดขายใหม่ๆ ให้แก่สินค้าและบริการ จะทำให้สามารถรักษาฐานตลาดเดิม และชิงส่วนแบ่งจากตลาดใหม่ได้ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top