นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) เปิดเผยว่า บริษัทมีความพอใจต่อราคาหุ้น SICT ที่เข้าซื้อขายวันนี้เป็นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีราคาเปิดที่ระดับ 4.14 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 200% จากราคาที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ระดับ 1.38 บาท/หุ้น
สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มรู้จักเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาไมโครชิพที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์ระบบระบุข้อมูลของวัตถุที่ขึ้นทะเบียนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
“หลัง IPO เราต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่แบรนด์ เชื่อว่าจะเสริมสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้เราได้ และเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะทำให้เรามีความสามารถในการจ้างบุคลากรที่เก่ง ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศได้”
นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งที่ผ่านมาสามารถระดมทุนได้ 138 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยหุ้น SICT ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในอนาคตและเทคโนโลยีของบริษัทที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ New S-Curve
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าภายในปี 67 จะมีรายได้เติบโตเป็น 2 เท่าตัว หรือแตะ 600 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่น้อยกว่าระดับ 308.8 ล้านบาทในปีก่อน โดยปัจจัยหนุนมาจาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Identification) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 33-42%, ธุรกิจไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบการอ่านข้อมูล (Access Control & Interrogator) มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 27-32% , ธุรกิจไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (Car Immobilizer) มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 25-38% และไมโครชิพอื่นๆ (Others) ประมาณ 1-2%
แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดขายยังเติบโตต่อเนื่อง และคำสั่งซื้อก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากลูกค้ารับรู้ประเด็นดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว และให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาด้านการผลิต
ประกอบกับสินค้าของบริษัทถือเป็นสินค้าที่หลายประเทศเริ่มนำไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ต้องมี รวมถึง Immobilizer บริษัทก็มองว่าด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม น่าจะส่งผลดีต่อการใช้ระบบคีย์การ์ดให้เติบโตด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนาไมโครชิพในกลุ่มคลื่นความถี่สูงแบบไร้สายในระยะประชิด (NFC) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าในกลุ่มเครื่องตรวจวัดค่าทางไฟฟ้า กายภาพ และเคมี โดยร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ คาดว่าจะสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทได้ในอนาคต
สำหรับการเติบโตในระยะ 4 ปีข้างหน้า บริษัทเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มธุรกิจไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Identification) ในอีก 1 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านราคาและประสิทธิภาพ และจะมีอีก 1 ผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาในปี 65 อีกทั้งยังมองโอกาสขยายไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ไปในสัตว์เลี้ยง จากปัจจุบันมีอยู่ในปลาแซลมอน, แกะ, สุกร, วัว เป็นต้น
นายมานพ กล่าวว่า บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนขายหุ้น IPO จำนวน 138 ล้านบาท มาใช้รองรับขยายงานด้านต่าง ๆ แบ่งเป็น 35% ลงทุนในเครื่องมือ, อุปกรณ์, ซอฟต์แวร์ ด้านออกแบบและทดสอบไมโครชิพ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตร, 30% ใช้ในการร่วมลงทุนกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาวงจรรวม หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน และที่เหลือจะใช้ในการจ้างบุคลากรด้านดีไซน์ รวมถึงพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย
ด้านนายนัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ของ SICT กล่าวเสริมว่า บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต อาทิ ธุรกิจด้านสุขภาพ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ New S-Curve
บริษัทมีโมเดลธุรกิจที่เป็นผู้ออกแบบไมโครชิพและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จากนั้นจะว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิตไมโครชิพ ซึ่งข้อดีของโมเดลแบบนี้ คือบริษัทจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า โดย SICT จะเน้นถือครองทรัพย์สินทางปัญญา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 63)
Tags: IPO, mai, SICT, ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, ตลาดหุ้นไทย, นัยวุฒิ วงษ์โคเมท, มานพ ธรรมสิริอนันต์, หุ้นไทย, ไอพีโอ