KKP เน้นคุมความเสี่ยงจากแนวโน้ม NPL เพิ่ม-คงเป้าสินเชื่อโต 7-9%

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงในด้านหนี้เสียที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 3.4% โดยธนาคารประเมินว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นไปไม่เกิน 3.9%

ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวจะเห็นชัดมากขึ้นในช่วงหลังพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ เพราะมีโอกาสที่ลูกหนี้บางส่วนจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ทำให้ธนาคารยังต้องเตรียมความพร้อมต่อเนื่องในการรองรับกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารยังคงจำเป็นต้องตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นดังกล่าว ซึ่งแนวโน้มอัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) จะเพิ่มขึ้นมาบ้างเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 129% ประกอบกับ คาดว่าการขาดทุนจากรถยึดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น และการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวในแบบที่ขายไปไม่รู้ว่าจะหาผู้ซื้อที่ไหน

จากปัจจัยกดดันที่เกิดขึ้นทั้งแนวโน้มหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ แนวโน้มการตั้งสำรองที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง และโอกาสการขาดทุนรถยึดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารได้ปรับ Credit Cost เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเป้าหมายเดิมที่ 1.4-1.6% หลังจากที่ครึ่งปีแรก Credit Cost ของธนาคารเพิ่มขึ้นมาที่ 2.32% แล้ว จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 1.4% เพราะธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และประเมินว่าแนวโน้ม Credit Cost ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกตามค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารได้เริ่มทยอยเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าที่ขอพักชำระหนี้ เพื่อสอบถามถึงแนวโน้มความสามารถในการกลับมาชำระหนี้หลังสิ้นสุดมาตรการ เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าได้หากลูกค้าประเมินว่าไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ หรือลูกค้าบางรายที่ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ก็จะเตรียมแนวทางอื่นๆ เสริมเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือการผ่อนชำระหนี้แบบบอลลูน ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ต้นโดยจะไม่รอมาตรการสิ้นสุด เพื่อให้ทราบแนวโน้มข้างหน้าและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีทั้งสำหรับธนาคารและลูกค้า

ปัจจุบัน ลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้มีสัดส่วนราว 40% ของพอร์ตสินเชื่อคงค้างในครึ่งปีแรกที่ 2.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย 7.5 หมื่นล้านบาท และ ลูกค้าเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการ 2.5 หมื่นล้านบาท

นายอภินันท์ กล่าวว่า แม้ว่าลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ส่วนใหญ่ 65-70% จะเป็นลูกค้าที่ดีในช่วงก่อนหน้านั้น แต่ปัจจุบันแนวโน้มตัวเลขผู้ว่างงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการเลิกจ้างและการที่ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานใหม่ ทำให้จำนวนการว่างงานในประเทศปีนี้อาจจะขึ้นไปถึง 9-10 ล้านคน อาจจะส่งผลให้ลูกค้าในกลุ่มที่เคยเป็นลูกค้าที่ดีอาจจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เหมือนเดิม จึงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

ด้านสินเชื่อของธนาคารในปีนี้ยังคงเป้าสินเชื่อคงค้างเติบโต 7-9% หลังจากที่ครึ่งปีแรกเติบโตมาแล้ว 5% แต่มองว่ายังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เนื่องจากการที่ลูกค้าเข้ามาตรการการพักชำระหนี้ไม่ได้หักออกไปจากสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ ทำให้ตัวเลขไม่ได้ลดลงไปจากสิ้นปีก่อน เมื่อรวมกับสินเชื่อใหม่ทำให้พอร์ตรวมดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่หากหักลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ออกไปแล้วคาดว่าพอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารแทบจะไม่เติบโต หรือเติบโตเป็น 0%

“ตัวเลขที่เราเห็นยังหลอกตาในส่วนของการเติบโตของสินเชื่อ เพราะลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ สินเชื่อของกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ ไม่ได้ลดลงไป และเมื่อมีสินเชื่อใหม่ที่เข้ามาเติมก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามตัวเลขที่ออกมา แต่ถ้าหักกลุ่มพักชำระออกไป สินเชื่อคงค้างแทบไม่โตเลยเป็น 0% ทำให้เป้าที่เราวางไว้ยืนเท่าเดิมที่โต 7-9% มันก็ค่อนข้างที่จะหลอกตา แต่ถือว่าปีนี้ก็เป็นปีที่ไม่ปกติจากผลกระทบโควิด-19”

นายอภินันท์ กล่าว

นอกจากนั้น การปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารยังคงต้องให้ความระมัดระวังมากขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เพราะยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ธนาคารจะหันไปเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น และกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะหันมาเน้นคุณภาพของลูกค้ามากกว่าเน้นปริมาณ โดยได้ขยายไปสู่กลุ่มแบรนด์รถยนต์ที่มีลูกค้าคุณภาพสูง และมีการวางเงินดาวน์สูง เช่น ฮอนด้า ซึ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่มีคุณภาพดี วางเงินดาวน์สูงเฉลี่ย 20-25% และแบรนด์อีซูซุ ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นจากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาเติบโต

พร้อมกันนั้น ธนาคารจะเข้มงวดมากขึ้นกับเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ อย่างเช่น การวางเงินดาวน์รถยนต์ขั้นต่ำจากเดิมที่ 5% ปรับเพิ่มมาเป็น 10% ประกอบกับการพิจารณาความมั่นคงของรายได้จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้คงที่ รวมถึงกลุ่มอาชีพ หากเป็นกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีก และท่องเที่ยว ก็จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริงและป้องกันความเสี่ยงของธนาคาร

นายอภินันท์ ยังกล่าวถึงธุรกิจตลาดทุนในเครือ KKP ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาถือว่าทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ทำกำไรได้ถึง 800 ล้านบาท ช่วยเข้ามาชดเชยผลประกอบการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงไปได้ เนื่องจากลูกค้าเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เพราะตลาดมีความผันผวนสูง และมีนักลงทุนใหม่เข้ามาเพิ่มจากโอกาสการลงทุนในช่วงตลาดขาลงที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยคึกคัก ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ก็ทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์ได้รับผลบวก โดย บล.ภัทร ยังมีส่วนแบ่งตลาด (Market Share) อันดับ 1 ที่ 10.26% ซึ่งบัญชีลูกค้าใหญ่ Active เกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของธุรกิจโบรกเกอร์อาจชะลอตัวลง เพราะนักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนต่างๆ เพิ่มเข้ามา ทำให้ตลาดฯอาจจะชะลอความร้อนแรงลง ขณะที่งานด้านวาณิชธนกิจยังคงชะลอตัว เพราะตลาดฯยังผันผวน และลูกค้าบางรายที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ชะลอแผนออกไปก่อน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้มองว่าธุรกิจตลาดทุนอาจจะชะลอตัวลงบ้าง ทำให้ไม่สามารถช่วยหนุนผลการดำเนินงานได้เหมือนกับช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top