น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจ แก่ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Banks) จากเหตุการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ คือจะไม่นำเงื่อนไขอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาใช้บังคับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Banks) ที่ได้รับสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และได้นำสินเชื่อนั้นไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่ระบุไว้ ณ ปัจจุบัน ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2516) คือ “เงินกู้ทั้งสิ้นที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ต้องไม่เกิน 7 เท่าของเงินทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น”
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงผ่อนปรนเงื่อนไขฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.66 และได้ผ่านการเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล Non banks เรียบร้อยแล้ว โดย ธปท.มีความเห็นว่า การผ่อนปรนดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ขัดกับหลักการของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3
“วันนี้กฎกระทรวง จึงยกเว้นไม่ต้องนำเงื่อนไขอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่กำหนดว่าต้องไม่เกิน 7 เท่ามาใช้ ให้ยกเว้นไปก่อน ทำให้นอนแบงก์มีโอกาสไปกู้ได้มากขึ้นจากธนาคารที่ร่วมมาตรการซอฟท์โลนของ ธปท. และนำเงินกู้นั้น มาปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายย่อยต่อไป…เรื่องนี้ถือว่าเร่งด่วน จะให้กฤษฎีกาตรวจสอบ และจะมีผลทันทีเมื่อประกาศใช้ ”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)
Tags: ซอฟท์โลน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, นอนแบงก์, ปล่อยกู้, รัชดา ธนาดิเรก, ลูกหนี้รายย่อย, สถาบันการเงิน