น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณาสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และ ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือนให้แก่ อสม.และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ (อสส.) รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,000 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2563 เป็นเวลา 7 เดือน กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622 ล้านบาท โดยจะใช้จากกรอบเงินกู้ 45,000 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข
“ท่านนายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุมฯ ว่านี่เป็นเพียงการอนุมัติในรอบแรก แต่ว่าจะยังดูแล อสม.ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่โควิดยังไม่หยุดการระบาด ก็จะมีการพิจารณารอบ 2 รอบ 3 ต่อไปเรื่อยๆ ขอให้ อสม.สบายใจได้ว่ารัฐบาลจะดูแลอย่างดีที่สุดเหมือนที่ อสม.ดูแลพี่น้องประชาชน”
น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการจ่ายเงินให้เร็วที่สุด โดยจะแบ่งจ่ายจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือเดือนมีนาคม – มิถุนายนจะจ่ายรวบยอดทีเดียว 4 เดือน รวม 2,000 บาท และ เดือนกรกฎาคม – กันยายนจะจ่ายเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับบุคลากรอื่นของสาธารณสุข
โดยเหตุผลที่ให้ 7 เดือนก่อน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรสาธารณสุขกลุ่มอื่นตามหนังสือกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุขให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า จะเร่งรัดจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัย 7 เดือนแรกให้เร็วที่สุด และแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะมีอยู่ หรือการแพร่ระบาดหมดแล้ว ก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับการท่องเที่ยว นักธุรกิจ รวมถึงแรงงานที่เข้ามาก็จำเป็นต้องใช้กลไกล อสม. ดังนั้นตนเองยินดีที่จะให้ค่าตอบแทนเป็นพิเศษ อาจจะยาวนานกว่าเดิม แต่ตอนนี้คงต้องขอที่ช่วยเหลือในส่วน 7 เดือนก่อน ให้เท่ากับอีกหลายหน่วยงานที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข โดยยืนยันที่จะดูแล อสม.ทั่วประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ผิดสัญญา แต่ทุกอย่างต้องใช้เงินกู้อย่างระมัดระวัง รับมือกับการระบาดรอบที่สอง หากมีสถานการณ์เกิดขึ้น รวมถึงการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่มีความคืบหน้าทั้งในประเทศและความร่วมมือต่างประเทศ โดยไทยต้องเตรียมรายละเอียดในการผลิตวัคซีนไว้ รวมถึงมีชุดป้องกันโควิด ที่เตรียมพัฒนาใช้ในประเทศ และส่งออกขายต่างประเทศได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, ครม., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อนุทิน ชาญวีรกูล, อสม., ไตรศุลี ไตรสรณกุล