ในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว แต่มุมมองเปี่ยมความหวังดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะกลับมาระบาดรอบสองในสหรัฐเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน
การประชุม FOMC ในสัปดาห์นี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกสองในหลายรัฐของสหรัฐ โดยการระบาดรอบสองนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นถึงสามเท่า และผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นสองเท่า และส่งผลให้เศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาตั้งตัวใหม่ ต้องสูญเสียแรงกระตุ้น โดยมีอย่างน้อยถึง 22 รัฐที่พับแผนการที่จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจ
สำหรับในการประชุมสองวัน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันอังคารและจะสิ้นสุดในวันพุธ ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้ามืดวันพุธตามเวลาไทย นักวิเคราะห์คาดว่า ที่ประชุมจะหารือถึงวิธีการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์มองว่า เฟดไม่น่าจะประกาศการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ประมวลความเห็นนักวิเคราะห์ระดับแนวหน้า ประเมินท่าทีเฟดส่งสัญญาณผ่อนคลายการเงินต่อหรือไม่
— ทิม ดาย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน แสดงความเห็นผ่านบล็อกว่า “เฟดติดอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการฉุกเฉินในฤดูใบไม้ผลิที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ และการดำเนินมาตรการขั้นต่อไปเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูที่จะมีขึ้นในช่วงต่อไปของปีนี้”
“ผลการประชุมครั้งนี้ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย แต่คาดว่าจะมีการแสดงท่าทีผ่อนคลาย (dovish tone) ในแถลงการณ์และการแถลงข่าวหลังการประชุมของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด”
ดายระบุ
ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ระดับศูนย์ในการประชุมฉุกเฉิน 2 ครั้งเมื่อเดือนมีนาคม และเริ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปริมาณมาก (QE) และตราสารประเภท Agency Mortgage-Backed Securities (Agency MBS) เพื่อเยียวยาตลาดการเงิน นอกจากนี้ เฟดยังเปิดตัวโครงการปล่อยกู้ใหม่วงเงินสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในการรับมือกับการแพร่ระบาด
— ไรอัน สวีต นักเศรษฐศาสตร์จาก มูดี้ส์ อนาไลติคส์ แสดงความเห็นว่า แม้เฟดจะยอมรับว่าการระบาดระลอกสองดังกล่าวเป็นความเสี่ยงขาลงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ถึงกระนั้นนักวิเคราะห์ก็คาดว่า การประชุมเดือนนี้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก
“เราไม่คาดว่าผลการประชุม FOMC สัปดาห์นี้จะมีนัยสำคัญ วงเงินซื้อสินทรัพย์จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ไม่มีการปรับเปลี่ยน target range สำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินสำรองส่วนเกินของสถาบันการเงิน (Interest on Excess Reserves)” สวีตแสดงความเห็น
“กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณขึ้นมายืนอยู่ที่หรืออยู่เหรือเป้าหมายเล็กน้อย”
สวีตอธิบาย
อย่างไรก็ดี สวีตคาดว่า เจ้าหน้าที่เฟดจะอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งอาจปูทางไปสู่การประกาศกลยุทธ์ใหม่ในการประชุมเดือนก.ย.
นอกจากนี้ สวีตยังกล่าวว่า “เราคาดว่า เฟดจะเปลี่ยนแปลงสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่การทบทวนกรอบการทำงานด้านนโยบายจะเสร็จสิ้นลง” พร้อมกับเสริมว่า Forward Guidance แบบใหม่นี้ จะพิจารณาจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ และจะเน้นไปที่การทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ 2% ของเฟด
— โจเซฟ บรูซูลาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทที่ปรึกษาและการบัญชี RSM US LLP กล่าวว่า “เราคาดว่า การประชุมประจำเดือนก.ค.จะเป็นการเริ่มต้นการหารือเป็นเวลาสองเดือนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยในปีต่อๆไป”
“เฟดเผชิญกับความท้าทายในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายที่จะเปิดทางให้ธนาคารกลางสามารถรับมือกับผลลัพธ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาด และข้อจำกัดจากการที่การเมืองแบ่งเป็นสองขั้วอำนาจ”
บรูซูลาสกล่าวในบทวิเคราะห์
เขาคาดว่า เฟดจะเปลี่ยนแปลงนโยบายไปเป็นการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยในเดือนก.ย. ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว หลังจากการทบทวนนโยบายของธนาคารกลางที่ดำเนินมา 18 เดือน
— ไดแอน สวองก์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแกรนท์ ธอนตัน บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ เห็นแย้งว่า เฟดควรเปลี่ยนแปลง Forward Guidance ในการประชุมเดือนก.ค.
“ทำไมไม่ลงมือทำตอนนี้เลย แทนที่จะต้องรอถึงเดือนก.ย.อย่างที่ส่วนใหญ่คาดการณ์ ในเมื่อการกลับมาพุ่งขึ้นรอบสองทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต กำลังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การใช้จ่ายผู้บริโภค และการจ้างงาน” สวองก์ระบุในบทวิเคราะห์
“มีสมาชิกคณะกรรมการเฟดบางรายในตอนนี้ที่อยากรอไปจนกว่าเศรษฐกิจจะแย่กว่านี้ แต่ฉันเห็นต่าง และคิดว่าควรลงมือทำในตอนนี้ เมื่อพิจารณาจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”
สวองก์กล่าวเสริม
นอกจากนี้ การประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่สวัสดิการว่างงานที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนพึ่งพาอยู่ในเวลานี้ กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นเดือนก.ค.นี้ และสภาคองเกรสสหรัฐยังได้สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับขนาดและขอบเขตของมาตรการเยียวยารอบใหม่
— มาร์ค แซนดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้ส์ อนาไลติคส์ แม้ว่าไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการประชุมเฟดครั้งนี้ แต่กล่าวเตือนว่า “เศรษฐกิจอยู่ในความเสี่ยงที่จะถดถอยซ้ำซ้อน หรือฟื้นตัวเป็นรูปตัว W (Double-dip Recession หรือ W-shape) หากสภาคองเครสและคณะทำงานของปธน.ทรัมป์ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือรอบใหม่ก่อนที่สภาคองเกรสจะหยุดพักในเดือนสิงหาคม”
… นอกเหนือจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยและโครงการซื้อสินทรัพย์ของเฟดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจับตาคือการพิจารณา “dot plot” ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในอนาคตของกรรมการเฟดแต่ละคน ส่วนในการประชุมครั้งที่ผ่านมานั้น พบว่า กรรมการส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับ 0.00-0.25% จนถึงปี 2565 และเฟดได้คงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)
Tags: Fed, FOMC, RSM US LLP, ทิม ดาย, ธนาคารกลางสหรัฐ, ประชุมเฟด, มหาวิทยาลัยโอเรกอน, มาร์ค แซนดิ, มูดี้ส์ อนาไลติคส์, อัตราดอกเบี้ย, เศรษฐกิจสหรัฐ, แกรนท์ ธอนตัน, โจเซฟ บรูซูลาส, ไดแอน สวองก์, ไรอัน สวีต