นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.47 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 31.70 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังได้รับปัจจัยกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ
“บาทแข็งค่าไปมากจากเย็นวันศุกร์หลังหยุดยาว เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าจากแรงกดดันเรื่องความกังวลต่อสถานการณ์โควิด”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.40-31.55 บาท/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยที่ตลาดจับตาดู ได้แก่ ผลประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจ และการส่งสัญญาณทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต
THAI BAHT FIX 3M (24 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.32521% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.38277%
SPOT ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 31.52500 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ 105.12 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 106.32 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ 1.1718 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1602 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.7380 บาท/ดอลลาร์
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำหรับสัปดาห์ถัดไป (27-31 ก.ค.) ที่ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (28-29 ก.ค.) ปัจจัยการเมืองในประเทศ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนมิ.ย. ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถานการณ์โควิด-19 ของไทยและต่างประเทศ ตลอดจนท่าทีระหว่างสหรัฐฯ-จีน
- อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งญี่ปุ่น (เอส เอ็มอาร์เจ) จับคู่อุตสาหกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แพลตฟอร์มทีกู๊ดเทค ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนข้อมูล จับคู่ธุรกิจมีผู้ประกอบการไทยเป็นสมาชิกอยู่กว่า 4,000 กิจการ เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มเจกู๊ดเทคของญี่ปุ่นแพลตฟอร์มเอสเอ็มอีที่มีฐานข้อมูลธุรกิจกว่า 20,000 กิจการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ อีกมายมายที่เข้ามาหาคู่ค้า ถือเป็นการเชื่อมเป็น อินดัสตรีบับเบิล ไทย-ญี่ปุ่น
- กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าผลักดันแหล่งผลิตสินค้า GI เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตั้งเป้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว หวังดึงคนเข้าไปเที่ยวชม ไปสัมผัสวิถีชีวิต และเลือกซื้อสินค้า นำร่องก่อน 10 สินค้า
- ดีป้าเร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ คาดเกิดเม็ดเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
- นักวิเคราะห์ บล.เอเชียพลัส เปิดเผยว่า ทิศทางครึ่งปีหลังปีนี้คาดว่าตลาดค้าปลีกฟื้นตัวจากสาขาเดิมและการเปิดสาขาใหม่ซึ่งเชื่อว่าจะกลับมาเปิดส่วนที่เหลืออีก 80% รวมทั้งฟื้นตัวจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรหลังจากบรรยากาศการจับจ่ายกลับมาดีขึ้น เห็นได้จากการปรับขึ้นของหุ้นค้าปลีก อาทิ ดูโฮม โฮมโปร อินเด็กซ์ คอมเซเว่น ที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น
- 6 แบงก์รัฐอ่วม ‘คลัง’ กำชับดูแลหนี้เน่า-สินเชื่อด้อยคุณภาพ กว่า 5 แสนล้าน ขณะที่กำไรสะสม 5.9 พันล้าน ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จับตาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่าให้กลายเป็นหนี้เสีย เล็งช่วยเหลือลูกหนี้โควิด-19 คาดยืดไปถึงสิ้นปี
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวว่า ช่วงนี้กำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ คือ การท่องเที่ยวที่ต้องมาจากไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ที่ตั้งเป้าไว้ ประกอบด้วย 1.กลุ่มคนไทยเที่ยวนอก ซึ่งปี 2562 มีประมาณ 12-13 ล้านคน ใช้เงินมากกว่า 400 ล้านบาท 2.กลุ่มคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มนี้คิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่พอมีกำลังซื้อ ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และ 3.การจัดการประชุมสัมมนาภาครัฐ ซึ่งคิดว่าน่าจะช่วยในส่วนของโรงแรมต่างๆ ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในเวลานี้ เพราะตามโครงสร้างรายได้หลักของการท่องเที่ยว 2 ใน 3 ส่วน เป็นรายได้จากต่างประเทศ
- สภาองค์การนายจ้างฯ หวังทีมเศรษฐกิจใหม่จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาวเหตุเป็นโจทย์ใหญ่รอวันเร่งแก้ไข ทั้งแรงงานตกงานพุ่งจากพิษโควิด-19 ธุรกิจหันพึ่งเทคโนโลยีฉุดแรงงานอายุ 45 ปีขึ้นไปตกงานเพิ่ม ขณะที่ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 64-65 กดดันรายได้รัฐที่จัดเก็บจะลดต่ำลง แต่งบประมาณที่จะใช้ดูแลคนสูงวัยจะเพิ่มขึ้น
- คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 92.6 ในเดือนก.ค. จากระดับ 98.3 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 94.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้า รวมถึงสถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
- ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวผันผวนในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 ก.ค.) โดยดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮเมื่อคืนนี้ (28 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐร่วงลงในเดือนก.ค. อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐยังเป็นปัจจัยที่หนุนคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
- นักลงทุนจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธที่ 29 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 30 ก.ค.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมครั้งนี้ และคาดว่าเฟดจะยืนยันการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในช่วงหลายปีข้างหน้า
- นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตในประเด็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2563 (ประมาณการเบื้องต้น),ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)
Tags: Forex, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท