แม้ภาพรวมบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีความเปราะบางและผันผวนอยู่บ้าง แต่ดูเหมือนว่าความเชื่อมั่นผู้ลงทุนเริ่มกลับมามีสัญญาณที่ดีสะท้อนจากดัชนีฯสามารถทรงตัวยืนเหนือ 1,300 จุดได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้บรรดาหุ้นใหม่ป้ายแดงทยอยตบเท้าเข้ามาซื้อขายในกระดานตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กันมากขึ้น ขณะที่หลายบริษัทได้นำบริษัทลูกเข้าระดมทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทแม่ และนำเงินทุนไปใช้หมุนเวียนขยายกิจการต่อไป
เช่นเดียวกับ บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ล่าสุดเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในเดือน ส.ค.63 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,120 ล้านบาท จำนวนหุ้นทั้งหมด 2,240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น และกรีนชู 60 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนหุ้นขายไอพีโอทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ลงทุนในช่วงที่ตลาดฯยังมีความไม่แน่นอน
สำหรับผู้ที่รับได้สิทธิจองซื้อหุ้น IPO นั้นส่วนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ BWG มีสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ETC จำนวน 95,802,973 หุ้น คิดเป็นอัตรา 40 หุ้น BWG ต่อ 1 หุ้นสามัญ ETC ตามข้อมูลระบุว่าการให้สิทธิผู้ถือหุ้นครั้งนี้เป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นของ BWG และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้หุ้น BWG อีกด้วย
ฝ่าความผันผวน
นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ETC เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”สำหรับกระแสตอบรับภายหลังจากบริษัทเดินสายโรดโชว์เผยแพร่ข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันและรายบุคคล รวมถึงนักวิเคราะห์ พบว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เพราะหุ้นโรงไฟฟ้าจะมีความแตกต่างกับหมวดอุตสาหกรรมอื่นๆไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นธุรกิจสัมปทานรับรู้รายได้ตามสัญญาขายไฟฟ้าจากภาครัฐ และในอนาคตรัฐบาลก็มีโจทย์ที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้นการเติบโตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับนโยบายพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ แม้ว่าในช่วงที่บริษัทจะยังไม่มีโครงการใหม่เข้ามาราคารับซื้อไฟฟ้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี
“ส่วนตัวมีความมั่นใจว่านักลงทุนคงเห็นความแตกต่างระหว่างหุ้นโรงไฟฟ้ากับหุ้นที่อิงกับภาวะเศรษฐกิจที่ยอดขายมีความผันผวน อยากให้มองเห็นความมั่นคงระยะยาว และเมื่อระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้วช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนจากแผนชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของโครงการในอนาคต”
เปิดพอร์ต 3 โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม
นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงจากขยะ RDF ของ ETC ปัจจุบันมี 3 โครงการรวมกำลังการผลิตติดตั้งรวม 20.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.5 เมกะวัตต์กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลา 20 ปี ประกอบด้วย
1.โรงไฟฟ้า ETC กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.4 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 8 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.60 มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT 5.83 บาท/หน่วย
2.โรงไฟฟ้า RH กำลังการผลิตไฟฟ้า 7 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 5.5 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย และ 3.โรงไฟฟ้า AVA กำลังการผลิตไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 3 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.62 มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย
“ใบอนุญาต 2 โครงการล่าสุดด้วยประสบการณ์บริษัทสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามหลักเกณฑ์ของภาครัฐภายใน 2 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วกลับยังไม่สามารถเริ่ม COD ได้เพราะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด”
ปี 63 จุดพลุผลงานรับรู้โรงไฟฟ้า 3 แห่งเต็มปี
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการตลอดปี 63 บริษัทเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้โดดเด่น เนื่องจากเป็นปีแรกที่รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งเต็มปีส่งผลให้อัตราการเติบโตจะมีความแตกต่างกับผลประกอบการปี 62 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะส่วนใหญ่รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า ETC เท่านั้น ขณะที่โรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งที่เพิ่ง COD เมื่อปลายปี 62 เป็นเพียงการรับรู้รายได้แค่บางส่วน ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิตลอดทั้งปี 63 มีโอกาสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 20% เมื่อเทียบไตรมาส 1/63 ที่มีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 18% เท่านั้น
นายเอกรินทร์ กล่าวต่อว่า ความได้เปรียบบริษัทเมื่อเทียบกับรายอื่นในอุตสาหกรรมคือ ETC เป็นบริษัทในกลุ่ม เบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) เป็นกลุ่มธุรกิจรับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในไทยมีโรงงานผลิตขยะอัดก้อน (RDF) อยู่ภายในกลุ่มทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงและมีข้อได้เปรียบต้นทุนเชื้อเพลิง นอกจากนั้น ETC มีบริษัทย่อยชื่อ บริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (EEC) เป็นผู้รับเหมาทั้งสร้างและบริหารและดูแลซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการดูแลโรงไฟฟ้า
“โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเมื่อเทียบ Performance กับโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแล้ว แม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะมีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าและใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า ดังนั้น การมีบริษัท EEC เข้ามาดูแลเฉพาะทางด้าน O&M ก็ยิ่งมีความได้เปรียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน”
เล็งคว้าโอกาสรัฐเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขยะ RDF ภายในปีนี้
นายเอกรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) เบื้องต้นได้กำหนดรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะต้องมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 65 อย่างน้อย 400 เมกะวัตต์ หนึ่งในนั้นคือโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 44 เมกะวัตต์ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่าภายในปี 63 ภาครัฐจำเป็นต้องทยอยเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 44 เมกะวัตต์ เพราะขั้นตอนการก่อสร้างต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการเห็นโครงการโรงไฟฟ้าสามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 65
“สำหรับเงินลงทุนโครงการในอนาคตเครดิตของบริษัทสามารถทำโปรเจ็คท์ไฟแนนซ์กับแบงก์ได้ทันที เพราะทั้ง 3 โครงการบริษัทก็ชำระเงินกู้ตามระบบ ซึ่งหากบริษัทคว้ามาทั้งหมด 44 เมกะวัตต์ คงต้องใช้เงินอีกหลายพันล้านบาท แบงก์หลายรายพร้อมรองรับการลงทุนของบริษัทอยู่แล้วไม่น่าเป็นห่วง”
ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากปริมาณขยะในประเทศมีสูงถึง 40 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นสัดส่วน 56% เป็นประเภทขยะชุมชน และอีก 2% เป็นขยะประเภทอันตราย นั้นแปลว่าสัดส่วนอีก 42% เป็นประเภทขยะอุตสาหกรรมคิดเป็นประมาณ 20 ล้านตันที่สามารถนำมาผลิตเป็นไฟฟ้า และเมื่อนำมาคำนวณพบว่าสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 2,000 เมกะวัตต์ต่อปี
“ล่าสุดหน่วยงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่นโยบายผลักดันแนวทางกำจัดขยะอุตสาหกรรมด้วยการนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า นำเสนอรายละเอียดให้กับรัฐบาลพิจารณาเพราะเล็งเห็นว่าแนวทางดังกล่าวมีความเหมาะสมมากที่สุด”
พร้อมเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน-ศึกษาขยายลงทุน “เวียดนาม”
นอกเหนือจากโอกาสจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของภาครัฐจำนวน 44 เมกะวัตต์แล้ว บริษัทเตรียมเข้าไปคว้าโอกาสลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเช่นกัน เพราะบริษัทมีคุณสมบัติและเทคโนโลยีที่พร้อมเข้าไปดำเนินงาน ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดโอกาสร่วมลงทุนกับพันธมิตรรายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ส่วนแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทได้ศึกษาการลงทุนร่วมกันพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม ล่าสุดแผนดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนศึกษาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าระยะสั้นจะมีอุปสรรคบ้างจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)
Tags: BWG, ETC, IPO, mai, หุ้นโรงไฟฟ้า, หุ้นไทย, เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน, เวียดนาม, เอกรินทร์ เหลืองวิริยะ, เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์, โรงไฟฟ้าขยะ, โรงไฟฟ้าชุมชน, ไอพีโอ