ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ชี้แจงผลประกอบการงวดครึ่งแรกของปี 63 กำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีจำนวน 10,765 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่วันที่ BBL เข้าไปถือหุ้น โดยกำไรสุทธิลดลงจากครึ่งแรกของปี 62
เนื่องจากธนาคารมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อกันเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการคาดการณ์วิกฤติในครั้งนี้ยังยากที่จะคาดคะเน เพราะเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบกว้างไกลต่อระบบเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจโดยตรงเหมือนที่ผ่านมาในอดีต
BBL รายงานงบการเงินไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 3.1 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.62 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9.35 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 4.90 บาท ขณที่งวด 6 เดือนมีกำไร 10,765 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 18,375 ล้านบาท
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในงวดครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 5.6% หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1.8% ตามการเติบโตของสินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.31% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง สาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อตาม TFRS 9
ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปี 62 โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45% โดยธนาคารยังคงดูแลค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย เน้นการใช้จ่ายที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงระบบงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และชะลอการใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นในช่วงภาวะซบเซา
ธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)
ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,353,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% จากสิ้นปี 62 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.4% จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการสินเชื่อที่คาดไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.1% ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 170.5%
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,852,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% จากสิ้นปี 62 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 8.9% จากเงินรับฝากทุกประเภท จากการที่ลูกค้ามุ่งเน้นการบริหารสินทรัพย์โดยเน้นกลยุทธ์เชิงคุณภาพ
สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 82.5% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 16.6%, 14% และ 14% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
อนึ่ง BBLได้เข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในประเทศอินโดนีเซียที่ 89.12% เสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.63 ดังนั้นงบการเงินรวมของ BBL ในครึ่งแรกของปี 63 ได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่วันที่เข้าไปถือหุ้น โดยธนาคารเพอร์มาตามีสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 จำนวน 336,964 ล้านบาท และหนี้สินจำนวน 285,022 ล้านบาท คิดเป็น 9% ของสินทรัพย์รวม และ 8% ของหนี้สินรวมของธนาคาร
BBL ระบุว่า ครึ่งแรกของปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างหนักจากผลกระทบของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตรการปิดเมืองทั่วโลกและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวอย่างหนัก ประกอบกับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยลดลงตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ
ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงตามไปด้วย การบริโภคภาคเอกชนลดลงอย่างมากจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง และการหยุดชะงักของกิจกรรมภาคบริการ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนหดตัวจากความต้องการที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวจากการเร่งเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนและผู้ประกอบการในหลายภาค รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายผลกระทบดังกล่าวมาเป็นลำดับ
ในการนี้ BBL ได้ร่วมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม การพักชำระหนี้ และออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยโดยปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ เพิ่มวงเงิน รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปสำหรับทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 63)
Tags: BBL, ธนาคารกรุงเทพ, ผลประกอบการ, หุ้นไทย