นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีแรงงานที่ถูกพักงานจากสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว จำนวน 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง จำนวน 896,330 คน และมีแรงงานที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้าง สิ้นสุดสัญญาจ้าง ณ เดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 332,060 คน
มีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และคาดจะมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม 2563 หากมีการขยายมาตรการฯ กว่าอีก 800,000 คน รวมจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,397,979 คน
สำหรับ 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 คือ ภาคการผลิต, โรงแรมและภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ตามลำดับ โดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง
ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้มีงานทำ จำนวน 37.3 ล้านคน (ภาคบริการ 47%, ภาคเกษตรกรรม 30% และภาคการผลิต 23%), ผู้ว่างงานจำนวน 0.39 ล้านคน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 0.49 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563) จำแนกออกเป็น 1)แรงงานที่มีรายได้ประจำ (มาตรา 33) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน 2) อาชีพอิสระ (มาตรา 39, 40) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 8 ล้านคน 3) เกษตรกร ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 15,000 บาท จำนวน 17 ล้านคน และ 4) ข้าราชการ ได้รับเงินเดือนหรือบำนาญเต็มจำนวนตามปกติ จำนวน 2 ล้านคน โดยคาดว่าธุรกิจการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด
ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงานโควิด-19 กล่าวว่า มีหลายองค์กรได้ประเมินความเสี่ยงตลาดแรงงานในปี 63 ไว้ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดว่าจะมีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 7.4 ล้านคน ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่าจะมีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.3 ล้านคน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่าจะมีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน
ซึ่งจากการสำรวจของ ส.อ.ท.พบว่าในอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างมากกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 500 ล้านบาท/แรงงาน 201 คนขึ้นไป)
“ถึงสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติแต่ยังคงมีการเลิกจ้างงานอยู่ แต่หลังจากนี้ไปอีก 3-4 เดือนหากสถานการณ์แพร่ระบาดยืดเยื้อออกไปจะยิ่งมีการเลิกจ้างงานมากขึ้น ถึงเราจะไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ประเทศคู่ค้ายังมีสถานการณ์รุนแรง” นายสุชาติ กล่าว
ดังนั้น ภาคเอกชนเตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาต่อรัฐบาล 7 ข้อ ดังนี้
- ให้ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
- เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์จากเดิมถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
- เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาท/ชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมง/วัน
- ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณารับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและช่วยลดต้นทุนให้กับภาคเอกชน
- ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือ 0.01%
- โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี
- จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง
นอกจากนี้ ขอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill/Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 4 แสนล้านบาท) เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 63)
Tags: COVID-19, ตกงาน, ภาคการผลิต, ว่างงาน, ส.อ.ท., สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สศช., สุพันธุ์ มงคลสุธี, เลิกจ้าง, แรงงาน, โควิด-19