AAV จ่อคุยซอฟต์โลน รมว.คลังใหม่ ชี้ธุรกิจสายการบินอั้นถึงแค่ ต.ค.

ลดเป้าผู้โดยสาร-งดลงทุนเพิ่ม

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ดล์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้บริหารสายการบินไทยเอเชีย คาดว่าธุรกิจสายการบินจะอั้นเรื่องสภาพคล่องได้ถึงแค่เดือน ต.ค.นี้หากยังไม่มีการเปิดให้สามารถบินเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ก็คงตายกันหมด จึงอยากให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจว่าจะเปิดประเทศหรือไม่ หากไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็อยากให้ภาครัฐพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้แก่สายการบินอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นสายการบินก็คงล้มหายตายจากไปอีกเพราะไม่มีเงินหมุนสภาพคล่อง

“ประเทศอื่นๆ เช่น ในยุโรป สิงคโปร์ รัฐบาลเขาให้เงินแก่สายการบินฟรีๆ เพื่อประคองธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะสายการบินของรัฐ แต่รวมถึงสายการบินเอกชนด้วย แต่ของไทยแค่ขอกู้ยังไม่ให้เลย”นายธรรศพลฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ 8 สายการบินในไทยได้ทำเรื่องยื่นขอซอฟต์โลนและรอนานมากว่า 3 เดือนแล้ว ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ นกสกู๊ต ไทยสมายล์ ไทยเวียดเจ็ท และบางกอกแอร์เวย์ส โดยปัจจุบัน นกสกู๊ตได้เลิกกิจการไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.63 เพราะทนสภาพขาดทุนไม่ไหว

“ระหว่างนี้สายการบินต้องช่วยตัวเองไปก่อน ใครตายก็ตาย ใครอยู่ก็อยู่ หรือรัฐบาลจะปล่อยให้ตาย อย่าว่าแต่สายการบินเลย ได้คุยกับทุกสมาคมท่องเที่ยว ทุกคนก็เดี้ยงหมด รอก็แต่รัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร เปิดประเทศก็ดี แต่ถ้าไม่เปิดประเทศก็ต้องดูแลเรากันหน่อย ไม่ใช่ว่าพอภาคท่องเที่ยวฟื้น ทุกคนตายกันไปหมดแล้ว นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทย ไม่มีร้านสปานวด ไม่มีร้านอาหารกิน ไม่มีรถเช่า เพราะไม่มีเงินเข้า” นายธรรมศพลฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชีย คาดหวังว่าจะเปิดทำการบินในเส้นทางบินต่างประเทศได้ในไตรมาส 4/63 และยอมรับว่ารายได้จากเส้นทางต่างประเทศจะทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถฟื้นตัวได้ดีเพราะให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ดีกว่าเส้นทางในประเทศ โดยขณะนี้ทำการบินเส้นทางในประเทศเต็มที่ใช้เครื่องบิน 30 ลำ จากฝูงบิน 63 ลำ ซึ่งรายได้จากเส้นทางต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 55% ส่วนเส้นทางในประเทศ 45%

นอกจากนี้ บริษัทได้ยื่นขอขยายฐานปฏิบัติการการบิน (Hub) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ซึ่งรอให้คณะกรมการ AOT พิจารณาในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นคาดว่าในเดือน ก.ย.63 น่าจะเริ่มเปิดบริการที่สุวรรณภูมิได้ ทั้งนี้เหตุผลที่ขยายไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะผู้โดยสารต่างชาติสามารถต่อไฟลท์ไปจังหวัดอื่นได้สะดวก และมีสายการบินต้นทุนต่ำที่ใช้สุวรรณภูมิเพียงสายเดียวคือไทยเวียดเจ็ท

ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชียมี HUB 5 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และอู่ตะเภา โดยปีที่แล้วลด HUB ไป 2 แห่งคือหาดใหญ่ และเชียงราย

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV กล่าวว่า ในปี 63 บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารมาอยู่ที่ 10.8 ล้านคน จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดนสาร 22.1 ล้านคน หรือลดลงราว 50% และตั้งเป้าอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 80% ขณะที่ได้ปรับแผนลดฝูงบินในปีนี้ เหลือ 59 ลำ จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 63 ลำ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ปรับตัวลง เนื่องจากได้รัลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ตาม หลังจากบริษัทกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศตั้งแต่เดือน พ.ค.63 โดยใช้เครื่องบิน 7 ลำให้บริการใน 20 เส้นทาง และเพิ่มขึ้นมาใช้เครื่องบินเป็น 15 ลำในเดือน มิ.ย. จากนั้นในเดือน ก.ค.ใช้เครื่องบินเพิ่มเป็น 20-25 ลำ โดยยังบินเฉพาะเส้นทางในประเทศ

สำหรับเส้นทางระหว่างยังต้องใช้เวลา เพราะขณะนี้หลายประเทศก็ยังไม่เปิดประเทศ ขณะที่ไทยเองก็จำกัดการเดินทาง ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายปีนี้น่าจะเริ่มให้บริการได้ แต่ก็คงให้บริการเที่ยวบินอย่างจำกัด อย่างเช่นจีน เปิด 1 เมือง บินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน หรืออาจจะมีการจับคู่ประเทศที่มีมาตรการความปลอดภัยสาธารณสุขเท่าเทียมกัน แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวก็คงลดลงมาก โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีเข้ามาเพียง 8 ล้านคน จากปีก่อน 40 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าตลาดต่างประเทศหายไปเลย

“ปีหน้าขึ้นกับตลาดต่างประเทศถ้าบินได้สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น หรือจับคู่กัน Travel Bubble ถ้าบินได้ปีหน้าจะเปลี่ยนโฉม แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาก็ต้องประเมินสถานการณ์ เราเองก็คิดว่ายังบริหารจัดการได้ “นายสันติสุข กล่าว

ณ สิ้นปี 62 ไทยแอร์เอเชียมี 94 เส้นทางบิน แบ่งเป็นเส้นทางระหว่างประเทศ 59 เส้นทาง เส้นทางในประเทศ 35 เส้นทาง โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 33% เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่มี 32% รองลงมาเป็น นกแอร์ 18% และ ไทยไลอ้อนแอร์ 17%

นอกจากนี้ บริษัทได้กระจายแหล่งที่มารายได้ในธุรกิจใกล้เคียงธุรกิจหลัก ได้แก่ การจองตั๋วรวมโรงแรมและที่พัก ผ่าน Air Asia.com , Ourshop แพลตฟอร์มช้อปปิ้ง, Santan เป็นฟู้ดเดลิเวอรี่, Teleport ธุรกิจคาร์โก้ ที่ปรับเครื่องบินมารับขนส่งสินค้ามากขึ้น และห้องผู้โดยสารก็สามารถใช้ขนส่งสินค้าพัสดุได้ตามที่ กพท.อนุญาต

นายสันติสุข กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทไม่มีแผนเพิ่มเครื่องบินและไม่ลงทุนโครงการที่มีมูลค่าสูงเพื่อรักษาสภาพคล่องเอาไว้ ขณะเดียวกันไม่มีการลดพนักงาน แต่มีการปรับลดเงินเดือนทั้งของพนักงานและผู้บริหารลดลง 10-75%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top