โลกยุคปัจจุบัน “เทคโนโลยี” นับว่ามีบทบาทสำคัญในทุกอุตสาหกรรม ช่วยเปิดโอกาสสร้างการเติบโตให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมากมาย สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจของ บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยผู้พัฒนาไมโครชิพที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์ระบบระบุข้อมูลของวัตถุที่ขึ้นทะเบียนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
ล่าสุด SICT เตรียมเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) อย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ค.63 ช่วยปลดล็อกการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด 100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เปิดจองซื้อเมื่อวันที่ 21-23 ก.ค.63 กำหนดราคาเสนอขายที่ 1.38 บาท/หุ้น อิงบนค่าเฉลี่ย P/E ratio อยู่ที่ 14.66 เท่า
*ชูไอพีโอ 1.38 บาท/หุ้นไม่แพง โชว์เป้า 4 ปีโต 2 เท่า
นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SICT เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ราคาจองซื้อไอพีโอที่ 1.38 บาท/หุ้นนั้น มองว่าเป็นมูลค่าที่เหมาะสม และมีส่วนลดให้กับผู้ลงทุนเมื่อเทียบกับอนาคตการเติบโตในอนาคต
“ผมคิดว่าหุ้น SICT ราคาไอพีโอที่ 1.38 บาทเหมาะสมเรียกได้ว่าเป็น Best Value ในภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวน และบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิแต่ละปี นอกจากนั้น ธุรกิจของบริษัทเติบโตเกาะกระแสเทคโนโลยีที่เติบโตระยะยาว อยากให้นักลงทุนสบายใจได้เลยว่าซื้อหุ้น SICT ในราคาไม่แพง”
บริษัทวางแผนระยะยาวใน 4 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายเติบโต 2 เท่า หรือทำรายได้มากกว่า 600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีรายได้รวม 308 ล้านบาท แม้ว่าการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก เพราะมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในปี 63 มีความพร้อมสำหรับการเติบโตรอบใหม่แล้ว
เช่นเดียวกับอัตรากำไรสุทธิปี 62 ทำได้เพียง 8% แต่ไตรมาส 1/63 พลิกกลับมาที่ 15% ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งสั่งสินค้าในช่วงที่วิกฤติโควิด-19 ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้ ฝ่ายบริหารมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตต่อเนื่องได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/63 จนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 63
“SICT เราเริ่มดำเนินการก่อตั้งมาแล้ว 19 ปีด้วยจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญพัฒนาไมโครชิพไม่กี่ราย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือต้องการยกระดับบริษัทก้าวขึ้นชั้นบริษัทระดับโลกภายใต้บริษัทสัญชาติไทย และในสมัยนั้นบริษัทก็ได้คิดค้นงานวิจัยและพัฒนาไมโครชิพที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์ระบบระบุข้อมูลของวัตถุที่ขึ้นทะเบียนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) เช่น กุญแจรถยนต์ บัตรผ่าน แคปซูลที่ฉีดฝังในตัวสัตว์เพื่อบันทึกประวัติต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ขณะที่อีกหนึ่งความโดดเด่นในสมัยนั้นคือบริษัทได้รับมาตรฐาน ISO ยกระดับบริษัทเข้าสู่มืออาชีพอย่างเต็มตัว”
นายมานพ กล่าวต่อว่า แผนระดมทุนไอพีโอครั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายนำเงินไปพัฒนาธุรกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถแข่งขันทุกๆมิติ ดังนั้นเมื่อได้รับเงินระดมทุนไปแล้วจึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตในอัตราเร่ง โดยเบื้องต้นนำไปซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบและทดสอบไมโครชิพ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะใช้เงินลงทุนสัดส่วน 35%
ส่วนอีก 30% จะนำไปร่วมลงทุนกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาวงจรรวม เพื่อช่วยให้สินค้า RFID ของบริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และช่วยกระจายกลุ่มลูกค้าเป็นวงกว้างในระดับโลก และสุดท้ายอีก 35% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เป็นต้น รองรับปริมาณงานเป็นจำนวนมากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของกำไรและยอดขายระยะยาว
“ไมโครชิพ”เทคโนโลยีต้นน้ำสินค้า Value Added เป้าเบอร์หนึ่งโลก “Animal ID”
นายมานพ กล่าวว่า ด้วยลักษณะธุรกิจของบริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้นน้ำ เพราะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในไทยไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัททำให้ไม่มีคู่เทียบหรือบริษัทที่เป็นคู่แข่งขัน ขณะที่ข้อดีของ “ไมโครชิพ” นับเป็นหนึ่งในสินค้า Value Added หรือสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยลักษณะพิเศษ ส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตด้านยอดขายและกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่า 40% เป็นความสามารถทำกำไรที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในไทย
สำหรับโครงสร้างรายได้หลักของ SICT มาจากไมโครชิพ 3 ประเภท ได้แก่
1.ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (สัดส่วนรายได้ 41.88%) ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลของสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โคเนื้อ, โคนม, แกะ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว ในกลุ่มประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์รายใหญ่ เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้
นายมานพ กล่าวว่า ในบางรัฐของสหรัฐ สัตว์ทุกตัวต้องติดป้ายที่มีไมโครชิพเพื่อใช้ตรวจสอบย้อนกลับ โดยลูกค้าของบริษัทเป็นผู้ผลิตแท็กระบบลงทะเบียนสัตว์ (Ear Tag) รายใหญ่ของโลก โดยไมโครชิพประเภทนี้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับโลกเกินกว่า 20% คิดเป็น 1 ใน 5 ของผู้ผลิตชั้นนำของโลกและมีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในไมโครชิพประเภทลงทะเบียนสัตว์ภายใน 4 ปีข้างหน้า
2.ระบบไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่และอ่านข้อมูล (สัดส่วนรายได้ 31.57%) ประกอบด้วยบัตร (card) สำหรับพกพาและเครื่องอ่าน (Reader) ที่ติดอยู่ตามประตูทางเข้าสถานที่ต่างๆ และเครื่องอ่านสำหรับระบบอุตสาหกรรม (Industrial) เพื่อใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าในสายการผลิต และเครื่องอ่านสำหรับระบบของเล่น (Smart Toys and Educational Toys) เพื่อใช้เชื่อมต่อชิ้นของเล่นกับหน้าจอแสดงผลต่างๆ ล่าสุด บริษัทมุ่งเน้นเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน, โรงแรม ,และกลุ่มบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เป็นต้น
3.ระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ (สัดส่วนรายได้ 25.30%) กลุ่มลูกค้าเป็นผู้ผลิตกุญแจสำรองที่ตั้งอยู่ในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์กลุ่มตลาดระดับบน ซึ่งบริษัทเป็นรายเดียวที่สามารถผลิตและจำหน่ายไมโครชิพที่ใช้กับกุญแจสำรองในลักษณะ 3-in-1 ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกเช่นกันและความต้องการก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในตลาดโลก
และกลุ่มสุดท้ายคือไมโครชิพสำหรับใช้สำหรับระบบฉลากอัจฉริยะ (NFC) เพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า (Smart Label) หรือใช้สำหรับตรวจวัดค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ แม้จะมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายได้รวมแต่ละปี แต่จัดว่าเป็นสินค้าที่กำลังสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดครั้งใหม่ให้กับบริษัทในอนาคต เพราะเป็นไปตามการขยายตัวของแพลตฟอร์มการสั่งซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ ยกตัวอย่างสมาร์ทโฟนแทบทุกยี่ห้อจะมีระบบ NFC ทั้งนั้น ขณะเดียวกันบริษัทได้พัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อให้สามารถนำมาต่อยอดใช้กับระบบ “Blockchain” ป้องกันการปลอมแปลงซ้ำใช้ในการทำธุรกรรมหนังสือสัญญาและธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ ปัจจุบัน NFC มีส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำ แต่มีความเชื่อมั่นว่าจะเห็นอัตราการเติบโตที่โดดเด่นได้ภายในปี 2564
*เทคโนโลยีขั้นสูงโดน “Disrupt” ยาก
ปัจจุบันบริษัทมีนโยบายปลูกฝังพนักงานให้มีความรอบคอบ เป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการด้านนวัตกรรมป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยนำข้อมูลรอบด้านนำมาวิเคราะห์ถึงโอกาสของสินค้าของบริษัททุกประเภทเพื่อให้ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันไมโครชิพของบริษัทก็ไม่มีปัญหาเรื่องล้าสมัย นับเป็นเหตุผลที่สินค้าของบริษัทไม่โดนเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปชั่น
นอกจากนั้น สำหรับความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ใช้งบลงทุน R&D ที่อาจจะมองว่าเป็นเงินมูลค่าสูงเกินความจำเป็นหรือไม่นั้น เบื้องต้นบริษัทได้วิเคราะห์รายละเอียดในทุกๆโครงการเพื่อสอดคล้องกับผลตอบแทนและความคุ้มค่าต่อการลงทุนแต่ละครั้ง
สำหรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ต้องยอมรับว่าบริษัทส่งออกต่างประเทศเกือบ 100% แม้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจที่อิงกับการส่งออก แต่บริษัทมีนโยบายทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว และขายสินค้าเป็นสกุลเงินต่างประเทศเพื่อชดเชยผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินแต่ละสกุลอีกด้วย
“ธุรกิจหลักของบริษัทเป็นลักษณะของกึ่งโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ไมโครชิพ Animal ID ที่บริษัทขายตั้งแต่ปี 2005 มาจนถึงปัจจุบันก็ยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงเรื่องความล้าสมัยจะน้อย สิ่งที่เราทำคือเราต้องล้าสมัยตัวเองก่อน ต้องสังเกตว่าสินค้าของเราต้องพัฒนาต่อยอดไปในอนาคตอย่างไร นำนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน โดยในทุกเรื่องบริษัทจะมีคณะกรรมการที่ดูแลความเสี่ยงโดยเฉพาะอยู่แล้ว ขณะที่เทคโนโลยีของบริษัทที่กำลังเดินไปแต่ละครั้งจำเป็นต้องตั้งโจทย์ขึ้นมาก่อน และหาคำตอบว่าคนที่จะรับเทคโนโลยีของบริษัทมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นความเสี่ยงด้านสูญเสียไม่มีลูกค้า หรือการโดน Disruption แทบไม่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทเลย”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 63)
Tags: IPO, SICT, TECH STOCK, ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี, มานพ ธรรมสิริอนันต์, หุ้นไทย