นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่ค้า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยรวมทั้งประเทศคู่ค้าเริ่มกระเตื้องขึ้นอย่างช้าๆ
โดยจะเห็นได้จากดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เป็นต้น
“ดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ในเดือนมิ.ย. เริ่มขยับขึ้นมาจากเดือนพ.ค. แม้จะยังไม่ถึงระดับปกติที่ 50 แต่พบว่าการหดตัวเริ่มชะลอลง ซึ่งถือว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ…Acitivity ของทั่วโลก แม้จะยังไม่อยู่ในระดับที่ปกติ แต่ก็เริ่มจะกลับมาบ้างแล้ว ทิศทางของไทยก็สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ”
นางขวัญใจ ระบุ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการส่งออกนั้น แม้ตัวเลขล่าสุดของเดือนพ.ค.63 การส่งออกไทยจะติดลบอยู่ในระดับสูงที่ -22.5% ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี ก็ตาม แต่สถานการณ์ส่งออกดังกล่าวเป็นเหมือนกันทั่วโลกที่การส่งออกติดลบอยู่ในระดับเลขสองหลัก
โดยในปีนี้ EXIM BANK ประเมินว่าการส่งออกไทยจะหดตัว -8 ถึง -10% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะหดตัว -5 ถึง -8%
ด้านนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ EXIM BANK ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการส่งออกแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และขนาดธุรกิจ ให้สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศได้ ประกอบด้วย
1.บริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม (EXIM for Small Biz) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี หรือจ้างงานไม่เกิน 50 คน ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก ไม่เคยใช้บริการประกันการส่งออก และมีแผนจะส่งออกมูลค่าไม่สูงนัก สามารถขออนุมัติวงเงินผู้ซื้อกับ EXIM BANK ตั้งแต่มูลค่า 100,000-500,000 บาท วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายผู้เอาประกัน
2.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง (EXIM Amazing M Credit) เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง วงเงินสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ต่อปี
3.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมไทยเก่ง (EXIM Star Credit) เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ส่งออก SMEs ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่
1) กลุ่มเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
2) กลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ
3) กลุ่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติปรุงแต่งดูแลร่างกาย วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 4.75% ต่อปี และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4% ต่อปี กรณีส่งออกไป CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
รวมทั้งยังมีสินเชื่ออีกหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนในซัพพลายเชนของการส่งออกสินค้าและบริการไทยให้ปรับเปลี่ยนหรือยกระดับกระบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าธุรกิจ และสามารถแข่งขันได้
“นักธุรกิจไทยต้องพัฒนาและยกระดับห่วงโซ่อุปทานการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะกึ่งๆ สงคราม ใครปรับตัวไม่ทัน จะล้าหลัง และต้องออกจากธุรกิจ ใครปรับตัวได้ อาจเจ็บตัวบ้าง แต่มีโอกาสอยู่รอดในภาวะนี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าสินค้า ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อตอบสนองกระแส Social Distancing รวมทั้งกระแสความปลอดภัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”
นายพิศิษฐ์ ระบุ
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ว่า ธนาคารฯ มีสินเชื่อคงค้าง 126,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,317 ล้านบาท หรือ 18.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อการค้า 35,665 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 90,836 ล้านบาท การปล่อยสินเชื่อของธนาคารฯ ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 85,834 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 29,227 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.05%
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารฯ มีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 92,891 ล้านบาท เป็นสินเชื่อคงค้าง 52,915 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกและลงทุนใน CLMV จำนวน 33,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.38% หรือ 2,854 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความเสี่ยงทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารฯ มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 90,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,503 ล้านบาท หรือ 70.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก ธนาคารฯ มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและสำรองอื่นเท่ากับ 1,163 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนี้เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง และการกันสำรองตามเกณฑ์ TFRS9 ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่ง EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่ปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินดังกล่าว ทำให้ธนาคารฯ ต้องกันสำรองตามเกณฑ์ TFRS9 ไว้ที่ 2,908 ล้านบาท รวมกับการกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและสำรองอื่นสำหรับงวดครึ่งปีแรก เท่ากับ 2,579 ล้านบาท รวมเป็น 5,487 ล้านบาท แต่เนื่องจาก EXIM BANK กันสำรองไว้สูงอยู่เดิม ทำให้งวดครึ่งปีแรก ขาดทุนสุทธิเพียง 1,416 ล้านบาท
ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio) ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 อยู่ที่ระดับ 6.37% เทียบกับระดับ 4.60% ณ สิ้นปี 2562 ขณะเดียวกัน EXIM BANK ใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 163.89%
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งปีแรก EXIM BANK ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญทางการเงินในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก โดยพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ลูกค้าเป็นระยะเวลา 6 เดือน และออกมาตรการทั้งด้านสินเชื่อและประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกค้า ซึ่ง 81% เป็นผู้ส่งออก SMEs ซึ่งมีความสามารถในการต้านทานปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้น้อย อาทิ ปริมาณคำสั่งซื้อลดลงจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าสูงขึ้น ภาคการผลิตหยุดชะงักจากการที่ซัพพลายเออร์หยุดการผลิตและไม่สามารถส่งวัตถุดิบมาได้ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ขณะที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่า ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 4,600 ราย หรือประมาณ 15% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ วงเงินรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 63)
Tags: EXIM, EXIM BANK, ขวัญใจ เตชเสนสกุล, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย