นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กฟผ.ศึกษาโครงการลงทุนก่อสร้างโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit :FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตัน/ปีแล้วเสร็จเรียบร้อย
และเตรียมที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ให้พิจารณาอนุมัติในเร็ว ๆ นี้ โดยหากคณะกรรมการเห็นชอบแผนลงทุน กฟผ.ก็จะเดินหน้าออกประกาศเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) เพื่อจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไป
โครงการ FSRU ดังกล่าวคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 24,500 ล้านบาท ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นการศึกษาตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 59 ที่ได้มีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงจัดงานด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดแก่หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีการกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนจัดเตรียมเอกสาร TOR เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมที่จะเริ่มลงทุนได้ภายในปีนี้ เพื่อให้แล้วเสร็จสิ้นปี 67
ทั้งนี้ เดิมกฟผ.มีความต้องการใช้ก๊าซฯราว 3 ล้านตัน/ปี แต่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนภาครัฐจึงขยายเป็น 5 ล้านตัน/ปี ซึ่งปริมาณก๊าซฯที่นอกเหนือจากความต้องการใช้ กฟผ.สามารถเปิดโอกาสให้รายอื่นเข้ามาใช้ก๊าซฯได้ด้วย แต่จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 เพื่อให้ กฟผ.มีความคล่องตัว และสามารถทำธุรกิจ LNG ได้
ตามแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่ม กำลังผลิตรวม 2,100 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. แบ่งเป็น 2 โรง ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์แรก จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 69 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเขตนครหลวง ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018)
ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตามมติ กพช. เมื่อปี 59 มอบหมายให้ กฟผ.เป็นผู้ศึกษาและลงทุนก่อสร้างโครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่อ่าวไทย แต่ยังไม่มีมติให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตัน/ได้ ซึ่งการจะจัดหา LNG ดังกล่าว ยังต้องรอการอนุมัติในหลักการตามกระบวนการของภาครัฐก่อน
หากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) และ กพช. พิจารณาปรับแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ และมีมติเปิดกว้างให้แข่งขันเสรีเต็มรูปแบบ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ในประเทศทั้ง 5 ราย คือ บมจ.ปตท. (PTT) ,กฟผ และเอกชนอีก 3 ราย ก็จะมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลแข่งขันจัดหา LNG ราคาต่ำที่สุด เพื่อป้อนให้กับโครงการ FSRU ของ กฟผ.ได้ ก็จะเป็นโอกาสสำหรับ LNG Shipper รายใหม่ ๆ และประเทศก็จะได้ประโยชน์จากต้นทุนราคาก๊าซฯ ที่เกิดจากการแข่งขัน ซึ่งจะสะท้อนผ่านไปยังค่าไฟฟ้าของประชาชนทั่วประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ กฟผ.ก็จะมีรายได้จากการคิดบริการค่าผ่านท่อก๊าซฯด้วย เนื่องจากการลงทุนในโครงการนี้จะมีการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซฯเส้นใหม่ เพื่อป้อนก๊าซฯไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้โดยตรง ซึ่งจะมาเสริมความมั่นคงจากจัดหาก๊าซฯเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน การจัดส่งก๊าซฯฝั่งตะวันออกจากมาบตาพุดของ ปตท.มีความกระจุกตัว ซึ่งหากเกิดปัญหาขัดข้องขึ้น จะกระทบต่อการจัดส่งก๊าซฯในระบบทั้งหมด ดังนั้น หากมี โครงการ FSRU อ่าวไทยเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 63)
Tags: กฟผ., ก๊าซธรรมชาติ, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย