นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ปัจจุบันสัมปทานเหลืออยู่กว่า 8 ปี ซึ่งหากรัฐบาลอนุมัติการต่อสัมปทานจะทำให้ระยะเวลาเดินรถของ BTS เพิ่มเป็น 38 ปี ระยะทาง 66.4 กม. จากสัญญาสัมปทานเดิมมี 23.5 กม. แลกกับการเก็บค่าโดยสารรวมส่วนต่อขยายไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว
นายคีรี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งตอนเหนือและใต้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่แล้วผ่าน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเหลือสัญญาอยู่ 23 ปี จาก 30 ปี ซึ่งทำรายได้ให้ปีละ 5 พันกว่าล้านบาท ขณะที่บริษัทมีสัญญาสัมปทานที่ลงทุนเอง 23.5 กม.ซึ่งยังมีระยะเวลาสัมปทานอีก 8 ปีกว่า และเมื่อรวมกับสัญญาสัมปทานใหม่เป็นกว่า 38 ปี โดยแลกกับการบริหารจัดการหนี้ของกทม. 1 แสนล้านบาทและการปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท
“ผมกำลังพิจารณาว่าสัมปทาน 23.5 กม.อีก 8 ปีกว่าจะหมดอายุนี้ ถ้าทั้งเส้น (สายสีเขียว) กทม.มาถาม BTS ให้เป็นสัมปทานเลยดีไหมด้วยเงื่อนไขที่เราต้องจ่าย และเงินวันนี้ที่เขาติดอยู่เราก็ยกให้เขาเป็นราคาที่เราต้องจ่ายกับสัมปทานที่เราได้มาอีก 30 ปีหลังจาก 8 ปีแรกจบ…ถ้าเซ็นวันนี้ทั้งเส้นได้ 38 ปีกว่า ก็จะเป็นมูลค่าส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น เราเสนอให้รัฐบาล Fair ที่สุดจากค่าโดยสาร 150 บาท ลดลงมา 65 บาท”
นายคีรี ตอบคำถามผู้ถือหุ้น
นายคีรี ยังกล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน และเตรียมความพร้อมเข้าลงทุน อาทิ การเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการมอเตอร์เวย์สายต่างๆ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร BTS กล่าวเสริมว่าการเจรจาการรับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้จบลงเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอการพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเท่านั้น
ส่วนในปีนี้คาดว่าจะมีการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ได้แก่ สายสีเขียวตะวันตกส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7 กม. จะวิ่งไปทางถนนราชพฤกษ์, รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) บางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม. และ รถไฟฟ้าสายสีเทา (ระยะที่ 1) ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กม. เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักที่สถานีทองหล่อ รวมทั้งเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีฉลองรัช
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยงานโยธาคืบหน้า 59% งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลคืบหน้า 53% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการทั้งสองสายได้ภายในปลายปี 64
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีทอง จากสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน ระยะทาง 1.8 กม.มี 3 สถานี บริษัทรับจ้างเดินรถจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ระยะเวลา 30 ปี การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้า 96% และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลคืบหน้า 84% คาดว่าเปิดเดินรถได้ในเดือน ต.ค.63
อนึ่ง วันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น BTS อนุมัติการเพิ่มทุนแบบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 4,489 ล้านหุ้น เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 62,533 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเงินทุน หากเข้าซื้อกิจการ หรือ M&A ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอย่างเดียวอาจเป็นการใช้หุ้นเข้าไปซื้อได้ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาก็เคยขอการเพิ่มทุนลักษณะนี้ไว้แล้วแต่ไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ตามหากมีการเพิ่มทุนจริงก็จะ dilute 10% ขณะที่บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำอยู่ที่ 1.05 เท่า
รวมทั้งบริษัทเพิ่งได้ลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกที่จะสามารถทำผลกำไรให้กับบริษัทมหาศาล ซึ่งเฟสแรกจะลงทุน 4 หมื่นล้านบาท
นายคีรี กล่าวว่า ยังไม่สามารถประมาณการผลประกอบการในงวดปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ยังคงอยู่ หากไม่มีเรื่องโควิดเพิ่มเติมอีกก็เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่มีผลประกอบการที่ดี จากงวดปี 62/63 ที่มีผลกำไร 8.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รายได้จากค่าโดยสารในงวดปี 62/63 ลดลง 2.1% เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 ทำให้ยอดผู้โดยสารงวดปี 62/63 ลดลง 1.7% มาที่ 236.9 ล้านเที่ยวคน แต่ขณะนี้มีผู้โดยสารกลับมาฟื้น 80% ของจำนวนผู้โดยสารปกติก่อนโควิด 7-8 แสนเที่ยวคน/วัน
ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง บก อากาศ น้ำ (Air Sea Land) โดยในปีนี้บริษัทเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีความเป็นไปได้จะร่วมกับพันธมิตรเดิม คือ STEC และ RATCH ในชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ขณะเดียวกันก็สนใจเข้าประมูลโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำที่มีรูปแบบ PPP Netcost มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท หลังจากบริษัทได้เข้างาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่อยู่ระหว่างรอเข้า ครม. และลงนามสัญญา ซึ่งเข้าประมูลและได้งานในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ที่มี GULF , STEC และ RATCH ร่วมมือกัน
รวมทั้งให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่มีรูปแบบ PPP และมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งบริษัทติดตามเรื่องนี้ต่อไป โดยเส้นทางนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับสายสีเขียวที่สถานีพญาไทได้
นอกจากนี้บริษัทให้ความสนใจเข้าบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) ซึ่งตามแผนฟื้นฟูจะให้เอกชนบริหาร และลงทุนรถแอร์และระบบ เพราะรถเมล์จะเป็น Feeder โดยตรงกับรถไฟฟ้าเข้ากับทุกกลุ่มลูกค้า และสามารถบริหารการใช้บัตรแรทบิท รวมทั้งก่อนหน้านี้ได้เข้ามาลงทุนในบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วกว่า 20%
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ คาดว่า ในปีนี้ BTS จะใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง และในปี 64 ตามแผนในเดือน ต.ค.-พ.ย.จะเริ่มงานก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ส่วนมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทางที่เซ็นสัญญาคาดว่าจะเริ่มปลายปี 63
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 63)
Tags: คีรี กาญจนพาสน์, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สุรพงษ์ เลาหะอัญญา