กอนช.คาดฝนตกทั่วประเทศ 20-22 ก.ค.นี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ บูรณาการความร่วมมือหน่วยเกี่ยวข้องติดตามประเมินสถานการณ์น้ำใกล้ชิด คาด 20-22 ก.ค. นี้ ฝนจะตกกระจายทั่วประเทศและตกหนักในบางพื้นที่ รวมทั้งปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น เผยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลง 10 ลบ.ม. ต่อวินาที ช่วยเหลืออุปโภคบริโภคและการเกษตรที่ได้เพาะปลูกไปแล้ว

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำประจำวัน ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้คณะทำงาน กอนช. ซึ่งมาปฏิบัติการประจำ ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยวันนี้ (18 ก.ค. 63) ได้รับทราบรายงานการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าในช่วง 7 วันข้างหน้า ปริมาณฝนจะลดลง และจะมีฝนเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงวันที่ 20-22 ก.ค. 63 โดยจะมีฝนตกกระจายเกือบทุกภูมิภาค และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่

พร้อมกันนี้ กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาตรน้ำไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ทั่วประเทศ 3 วันล่วงหน้า จะมีน้ำไหลลงแหล่งน้ำทั่วประเทศ รวมจำนวน 165 ล้าน ลบ.ม. โดยจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสิริกิติ์มากที่สุด จำนวน 44 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ สถานการณ์เพาะปลูกพืชในเขตลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วถึง 3.81 แสนไร่ ในขณะที่ปริมาณน้ำทั้งใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้อยมากและไม่สามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในเขตลุ่มเจ้าพระยาได้

ทั้งนี้ กอนช. ได้ปรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 70 ลบ.ม. ต่อวินาทีเหลือ 60 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งส่งผลให้สามารถนำน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภค-บริโภคแก่ประชาชน และน้ำด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรที่ได้เริ่มเพาะปลูกไปแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในขณะนี้

นอกจากนี้ ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร ให้เริ่มทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่หลังช่วงวันที่ 15 ก.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และเกษตรกรต้องตัดสินใจทำการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน เนื่องจากจะไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มเพื่อการเพาะปลูก เพราะจำเป็นจะต้องกักเก็บน้ำฝนไว้ให้มากที่สุดเพื่อใช้สำหรับฤดูแล้งหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top