นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU Signing Ceremony) ระหว่าง สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ
โดยหวังว่าความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและสมาชิก ส.อ.ท. ให้เข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนในประเทศจีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เสริมความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดจีน
ขณะที่ นายวีรชัย มั่นสินธร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ส.อ.ท. กล่าวว่า สถาบันความร่วมมือฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อสานความสัมพันธ์และดำเนินกิจกรรมด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน ซึ่ง ส.อ.ท.เล็งเห็นว่าประเทศจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย และหนึ่งในพันธกิจของสถาบันฯ คือการสนับสนุนความร่วมมือและส่งเสริมนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ให้เข้าใจถึงสภาพสังคม ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศจีน ซึ่งเป็นที่มาของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้
โดยในขั้นแรกได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตร CHINA : CONNECT เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้นำสินค้าเข้าไปขายยังประเทศจีนด้วย Cross Border E-commerce ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการถ่ายทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสองเดือนนี้ นอกจากนี้ยังได้นำวิดีโอการสอนภาษาจีนตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงการใช้งานทางธุรกิจ ซึ่งสถาบันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศได้จัดทำโครงการสอนภาษาเทิดพระเกียรติโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้สนใจอยู่แล้ว มาเผยแพร่เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและสมาชิกของ ส.อ.ท.ต่อไป
น.ส.วีฤทัย มณีนุชเนตร ประธานสถาบันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตอันจะนำไปสู่ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไปได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าแก่ประเทศชาติ โดยสถาบันส่งเสริมฯ ได้จัดทำโครงการเรียนออนไลน์ฟรีสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)
โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 4 หลักสูตร รับสมัครหลักสูตรละ 9,999 คน ได้แก่
1.หลักสูตรภาษาจีนเพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน
2.หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
3.หลักสูตรการใช้การใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น
4.ทักษะวิชาชีพด้านการตัดเย็บเบื้องต้นชั้นสูง (Haute Couture) ในรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดเพศและวัย ผู้เรียนสามารถเรียนทบทวนได้ด้วยตนเองที่บ้าน รูปแบบการสอนภาษาจีนจะเน้นการใช้ชีวิตประจำวัน ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน โดยคณาจารย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์โดยเฉพาะด้านที่มีจิตอาสามาทำงานสนับสนุนโครงการนี้โดยไม่รับค่าตอบแทน
โครงการดังกล่าวสามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐและภาคประชาชนเป็นจำนวนกว่า 89,991,000 บาท นับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อภาคสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รับโอกาสด้านการศึกษา และสามารถนำไปปรับใช้เป็นประโยชน์ต่อตนเองในอนาคต และหวังว่าความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ จะช่วยพัฒนาให้ผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรมให้มีโอกาสก้าวไปในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างภาคภูมิใจ สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะให้สามารถปรับตัวด้านการเจรจาธุรกิจเชื่อมโยงการค้าต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 63)
Tags: SMEs, การค้าการลงทุน, การศึกษา, การศึกษาระหว่างประเทศ, ตลาดจีน, วีรชัย มั่นสินธร, วีฤทัย มณีนุชเนตร, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สุพันธุ์ มงคลสุธี