นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทล่าสุดอยู่ที่ระดับ 31.44/50 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิด
ตลาดที่ระดับ 31.38 บาท/ดอลลาร์
“เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.35-31.55 โดยมีแนวต้านหลักที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ โดยยังคงต้องติดตามสถานกาณณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอก 2 ทั้งในทั่วโลกและในประเทศ หลังมีประเด็นเกี่ยวกับทหารชาวอียิปต์และเด็กหญิงชาวซูดาน”
นักบริหารเงิน กล่าว
THAI BAHT FIX 3M (13 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.32690% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.38759%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ 107.10/30 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 107.09 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ 1.1330/1360 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 1.1320 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.3080 บาท/ดอลลาร์
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
- หลังจากยอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้นในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฟลอริดาซึ่งมีผู้ติดเชื้อในวันเดียวสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐประกาศเมื่อวานนี้ว่า กิจกรรมภายในอาคารตามร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์จะถูกปิดทั่วทั้งรัฐ ขณะที่กิจกรรมภายในอาคารอื่นๆ รวมถึงร้านทำผม จะต้องปิดทำการด้วยเช่นกันใน 30 เขตของรัฐแคลิฟอร์เนียจากทั้งหมด 58 เขต
- กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เปิดเผยในวันนี้ว่า เศรษฐกิจของประเทศได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากการที่รัฐบาลขยายเวลาใช้มาตรการล็อกดาวน์ได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปิดทำการ และยังทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคทรุดตัวลงด้วย
- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 13,061,989 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 572,212 ราย
- นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., ดัชนีการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมิ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, ธนาคารกรุงเทพ, ธปท., เงินบาท