วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางและการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศและคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง
ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศ ไม่มีการเดินทางข้ามจังหวัด เมื่อความต้องการการเดินทางและท่องเที่ยวทั้งหมดลดลง ยอดขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวภายในประเทศย่อมลดลงตามมาไม่มากก็น้อย โรงแรมและที่พักต่าง ๆ ลดการเปิดห้องพักและการให้บริการอื่น ๆ และการเดินทางขนส่งผู้โดยสารก็จะลดเที่ยวการให้บริการหรือยกเลิกเส้นทางการให้บริการต่าง ๆ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่
ในภาวะวิกฤติแบบนี้ คนที่อยู่รอดคือคนที่มีสายป่านยาว มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะประคับประคองธุรกิจไม่ใช่เพื่อเดินหน้าต่อไปได้ แค่ให้อยู่รอดในนาทีนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวที่สายป่านสั้นก็ต้องดิ้นรน ทั้งปรับลดต้นทุนการผลิตและการบริการ ลดการจ้างงาน ลดโบนัสและเงินเดือน ปลดพนักงาน
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวในแง่ของตัวเลข แต่ก็มีสัญญาณดีขึ้นถ้าเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวปีหน้า
“ถ้าไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจแบบนี้ เราเห็นอนาคตเลยว่าลำบากครับ ถึงแม้จะปั้นยังไง จะกระตุ้นไทยเที่ยวไทยยังไงก็ไม่น่าได้เกิน 6 แสนล้านบาท”
ห่วงที่สุดคือคนตกงาน เพราะในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีแรงงานในภาคท่องเที่ยวราว 2.6 ล้านคนที่อยู่ในสภาวะ “ว่างงาน” โดยแรงงานเหล่านี้ได้รับเงินชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมและเงินช่วยเหลือจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ของรัฐบาล
ธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราวทั้งหมดคือ ธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจนวด/สปา (98%), ตามด้วยธุรกิจนำเที่ยว (91%), สวนสนุก/ธีมปาร์ก (77%), โรงแรม ที่พัก (72%), คมนาคมขนส่ง (42%), ร้านอาหาร (39%) และสินค้าที่ระลึก (10%) ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่า ในไตรมาส 3/63 นี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวราว 8% คาดว่าจะลดจำนวนพนักงานของตัวเองลงราว 30% จึงคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานให้ถูกออกและตกงานอีกประมาณ 1 แสนคนจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ
สำหรับมาตรการ “เที่ยวปันสุข” ภายใต้งบประมาณรวม 22,400 ล้านบาท ที่วางกรอบไว้ 2 รูปแบบ คือ 1.ช่วยเหลือกลุ่มบริษัทนำเที่ยว ผ่านโครงการ “กำลังใจ” ภายใต้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม, ร้านอาหาร, สถานที่ท่องเที่ยว, สายการบิน, รถเช่า ฯลฯ ภายใต้งบฯ 20,000 ล้านบาท
ในมุมของภาครัฐอาจดูเหมือนว่าได้ทำหน้าที่ครบทุกมิติ และได้พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่ามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายใต้งบฯ 22,400 ล้านบาทที่ออกมานั้น ช่วยผู้ประกอบการเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะโรงแรมดูเหมือนจะได้รับอานิสงส์มากที่สุด ขณะที่ในกลุ่มบริษัทนำเที่ยวก็ยังลูกผีลูกคน เพราะโครงการพากลุ่ม อสม. และ รพ.สต.เที่ยวในงบฯ 2,000 บาทต่อคนนั้น ดูแล้วก็แทบจะมองไม่เห็น “กำไร” ที่สำคัญในกลุ่มดังกล่าวนี้ยังมีบริษัทนำเที่ยวในท้องถิ่นผูกขาดอยู่แล้ว
คำถามมากมายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยจะอยู่รอด และสามารถกลับมาทำธุรกิจต่อได้อย่างไร ? เพราะรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เคยคาดหวังไว้ที่ 3 ล้านล้านบาทต่อปี หดหายเหลือแค่ 1.23 ล้านล้านบาท หายไปเกือบครึ่งและจะไปอยู่ตรงไหนบ้าง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าทั้งโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” จะสร้างรายได้ทางตรง 5 หมื่นล้านบาท และทางอ้อม 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งสภาพัฒน์ระบุว่าเนื่องจาก supply chain ของการท่องเที่ยวค่อนข้างยาวก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท
แล้วอีก 5.3 แสนล้านบาทจะมาจากไหนที่จะมา บวก ลบ คูณ หาร เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีเป็นไปตามเป้า 1.23 ล้านล้านบาท คือคำถามที่ยังรอคำตอบ เพราะหากคาดว่าจะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่จากมุมมองของประธาน สทท. ที่คาดว่าจะทำได้เพียง 4 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 แสนคน ลดลง 96% จากช่วงเดียวกันของปี 62 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20,622 ล้านบาท ลดลง 96% เช่นกัน
ส่วนไตรมาส 4/63 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.2 ล้านคน ลดลง 49.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 253,768 ล้านบาท ลดลง 50%
แต่ข่าวลือแว่วมาว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มเติมโดยเฉพาะให้คนท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดามากขึ้น แต่ข่าวลือก็คือข่าวลือ..ยังไม่มีความชัดเจน ดูแล้วภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังน่าจะเผชิญกับภาวะหืดจับต่อไปอีกสักระยะจนกว่าสถานกาณณ์โควิดทั่วโลกจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นจนประเทศไทยสามารถเปิดน่านฟ้าอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ตามปกติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 63)
Tags: การท่องเที่ยว, ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร, ท่องเที่ยว, ยุทธศักดิ์ สุภสร