รอ ศบค.เคาะกิจการที่เหลือเฟส 6 และ 7
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ได้ทำการสุ่มสำรวจสถานที่ที่ได้รับการผ่อนปรนเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.- 2 ก.ค.ได้แก่ สถานที่ที่ใช้จัดประชุม อบรม สัมมนา แสดงนิทรรศการ แสดงสินค้าในโรงแรม ศูนย์ประชุม ทั้งหมด 222 แห่ง
พบว่าทุกอย่างอยู่ในระดับค่อนข้างดีทั้งการทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อย การสวมหน้ากากทุกคน มีจุดบริการล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ ลดความแออัด แต่ที่ต้องเน้นย้ำคือการทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยๆ โดยเฉพาะห้องสุขา อาจจะต้องเพิ่มรอบทำความสะอาด รวมทั้งการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ
สถานดูแลผู้สูงอายุ 51 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องเน้นย้ำคือควรสร้างความตระหนักให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยๆ รวมทั้งห้องสุขา และควรเว้นระยะห่างในการนั่งหรือยืน หรือเตียงห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
ขนส่งสาธารณะ ต้องเน้นย้ำการทำความสะอาดพื้นที่ผิวที่สัมผัสบ่อย ทั้งสถานีขนส่ง และในยานพาหนะ เช่น รถตู้ รถบัสโดยสาร ควรกำชับให้พนักงานทุกคนสวมหน้ากากและผู้โดยสารควรให้ความร่วมมือสวมหน้ากากตลอดเวลา หลังพบว่าเปอร์เซ็นต์การสวมหน้ากากอยู่ที่ 89% ต่ำกว่า 90% และต่ำกว่าสถานที่สาธารณะอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้โดยสารควรให้ความร่วมมือเว้นระยะห่าง ผู้ประกอบการควรมีระบบการติดตามข้อมูลผู้โดยสาร
ตลาด ต้องเน้นย้ำเรื่องการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ กำหนดทางเข้าออก แบ่งโซนสินค้าให้ชัดเจน พ่อค้าแม่ค้า ผู้สัมผัสอาหารและผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เนื่องจากพบว่ามีผู้ให้ความร่วมมือเพียง 70% ที่ทำความสะอาดพื้นตลาด บริเวณพื้นที่ให้บริการ แผงจำหน่ายอาหารทุกวัน และ ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลทุกสัปดาห์ มีการเว้นระยะห่างระหว่างแผงค้า บุคคล การซื้อสินค้า และการชำระเงิน อย่างน้อย 1-2 เมตร
ร้านอาหาร เครื่องดื่ม เน้นย้ำการทำความสะอาดห้องส้วม และพื้นผิวสัมผัสบ่อย พนักงานควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะอย่างน้อย 1 เมตร และควบคุมทางเข้าออก นอกจากนี้ปัญหาอุปสรรคที่พบบ่อยคือผู้บริการไม่ค่อยเช็คเอาท์ออกจากแอปฯ ไทยชนะ
ด้านนพ.อนุพงษ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเปิดเมืองปลอดภัย เปิดกิจการอย่างปลอดภัย พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสถานการณ์ของผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศและรายจังหวัด, กิจการนั้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค พิจารณาความเสี่ยงต่ำที่สุดก่อน ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวของคน/ชุมนุมของคนมากหรือน้อย มีระยะเวลาสัมผัส/ใช้บริการไม่เกิน/เกินกว่า 2 ชั่วโมง มีการจัดสถานที่ให้มีการถ่ายเทอากาศสะดวกมากน้อย สามารถจัดให้มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค/สิ่งแวดล้อม/การทำความสะอาด, กิจการนั้น มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน มากหรือน้อย
“อะไรที่ยังไม่เปิดก็อาจจะต้องรอเฟสที่ 6 เฟสที่ 7 เช่น สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามเด็กเล่นแบบบ้านลม บ้านบอล การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเชิญชวนต่างชาติเข้ามายกเว้น 11 กลุ่ม ส่วน Travel Bubble ขณะนี้ยังไม่เคาะ เพราะฉะนั้นอาจจะมีเฟสที่ 6 ตามมา เราพยายามทำให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพ เศรษฐกิจสังคม ประชาชนสามารถปากท้องอิ่ม มีรายได้พอสมควร สามารถทำรายได้จากการประกอบอาชีพ”
นพ.อนุพงษ์ กล่าวถึงกิจการบางชนิดที่เปิดไม่ 100% เช่น ฟิตเนสในส่วนที่เรียกว่าพิราทีส การทำโยคะหมู่ หลายอย่างมีการผ่อนปรน เช่น ที่นั่งบนสายการบินในประเทศ รถร่วมบริการ MRT BTS ยังมีการจำกัดคน 70% ของพื้นที่ ส่วนกรณีฟุตบอล มวยยังทำได้เพียงการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ส่วนการร่วมเชียร์ในสนามยังต้องรอการอนุมัติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 63)
Tags: COVID-19, คลายล็อกดาวน์, ผ่อนปรนมาตรการ, พรรณพิมล วิปุลากร, อนุพงษ์ สุจริยากุล, โควิด-19