ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.63 ระบุว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อเสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ จากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงกว่าคาดและรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักรุนแรง และกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตใหม่ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัว 8.1% ในปี 63 และจะกลับมาขยายตัวได้ 5% ในปี 64 ตามแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน อาทิเศรษฐกิจโลกที่อาจหดตัวหรือฟื้นช้ากว่าคาด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่จะลดลงมาก รวมทั้งโอกาสและความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19 รอบสองหากมีการเปิดประเทศตามมาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble)
กนง.อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังกังวลต่อ (1) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงต่อเนื่องนาน และยังต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงด้วย
และ (2) ตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างรุนแรงกว่าคาด โดยแรงงานในแต่ละสาขาธุรกิจจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป และแรงงานบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา แรงงานที่มีอายุ และแรงงานที่มีทักษะน้อย (unskilled) จะได้รับผลกระทบมากและจะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต(automation) มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้รายได้และการจ้างงานของครัวเรือนนอกภาคเกษตรฟื้นตัวช้า และอาจไม่กลับไปสู่การจ้างงานในระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19
ดังนั้น จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการระบาดคลี่คลายลง รวมทั้งนโยบายด้านแรงงานที่จะส่งเสริมการจ้างงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรักษาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาดตามราคาพลังงานที่ปรับลดลงแรงเป็นสำคัญสอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและกำลังการผลิตส่วนเกิน นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ จึงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 มีแนวโน้มติดลบ 1.7% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
กนง.ประเมินว่าการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่
(1) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางสูงขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64
(2) ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะในบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่า 70% ของจำนวนสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ต่างจากกรณีภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะหดตัว
(3) การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 1.8%
อย่างไรก็ตาม กนง.เห็นควรให้ติดตามและประเมินเงื่อนไขสุดท้ายว่า (4) อุปสงค์และการจ้างงานจะชะลอตัวยาวนานต่อเนื่องหรือไม่หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดเสถียรภาพระบบการเงินไทยเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวมากกว่าคาดจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19
ซึ่งอาจส่งผลให้ (1) ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับตัวรุนแรง (2) เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนในหลายประเทศรวมถึงไทย และ (3) ตราสารหนี้ภาคเอกชนบางกลุ่มมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น non-investment grade
นอกจากนี้ กนง.เห็นควรให้เตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อลูกหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อกลุ่มแรก ๆ ทยอยสิ้นสุดลง โดยการกำหนดแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมควรคำนึงถึงความแตกต่างของครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีศักยภาพในการฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งจะเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กนง.ยังประเมินว่าระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกแก่ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินที่จะเพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาดมาก เช่น สร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินออกไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ กนง.ประเมินว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัวต่ำกว่าคาด จาก (1) การระบาดของโควิด-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง (2) ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลก จากความเสี่ยงที่ภาคเอกชนและรัฐบาลของบางประเทศ มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรืออาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (3) การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น และ (4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อาทิความตึงเครียดระหว่างจีนและฮ่องกง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากที่สุดในไตรมาส 2/63 และจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวในอนาคตยังไม่แน่นอนอยู่มากและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ โอกาสและความรุนแรงของการระบาดระลอกสอง ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จและทั่วถึง และประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
นโยบายการเงินการคลังทั่วโลกที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อเนื่อง สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) สะท้อนจากราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น แม้มีความกังวลว่าการประเมินความเสี่ยงในตลาดการเงินอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และผลประกอบการของภาคธุรกิจที่จะลดลงมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปรับฐานราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน (market correction) ในระยะต่อไป กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) เริ่มมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้ดีและมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจน้อยกว่าภูมิภาคอื่น
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลง ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตามข้อมูลเศรษฐกิจ สถานการณ์การระบาด และความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน ซึ่ง กนง.เห็นควรให้ติดตามความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ
สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตและต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจ กนง.เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงของตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ซึ่งมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น non-investment grade
สำหรับการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านสถาบันการเงิน สินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ที่ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องของระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สอดคล้องกับ risk-on sentiments และส่วนหนึ่งจากแรงขายดอลลาร์ สรอ.ที่ได้จากการส่งออกทองคำหลังราคาปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินสกุลภูมิภาค ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) จึงปรับเพิ่มขึ้น
ในระยะข้างหน้าตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนตามการระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป ตลอดจนประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 63)
Tags: กนง., ดอกเบี้ยนโยบาย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ผิดนัดชำระหนี้, พันธบัตร, หนี้ครัวเรือน, หุ้นกู้, เศรษฐกิจไทย