โบรกเกอร์ แนะนำ”ซื้อ”หุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เล็งผลการดำเนินงานจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้หลังปลดล็อกดาวน์ส่งผลการจับจ่ายใช้สอยลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อปีนี้จะยังเติบโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว
ขณะที่เบื้องต้นคาดว่าทั้งปี KTC จะตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นไม่มาก ส่งผลให้ยังสามารถทำผลกำไรได้เติบโตจากปี 62 ประเมินว่าปีนี้จะมีกำไร 5,600-6,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 62 ที่มีกำไร 5,524 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 2/63 คาดว่ากำไรสุทธิจะหดตัวอย่างหนัก จากมาตรการปิดเมืองในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตของ KTC นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยคาดว่าจะเห็นการเร่งตัวของหนี้ NPL ซึ่งจะส่งผลตอ่เนื่องถึงค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ราคาหุ้น KTC ในปัจจุบันก็ถือว่ายังมี upside อยู่มากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมาย
พักเที่ยง ราคาหุ้น KTC อยู่ที่ 31 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.81% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 1.34%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) |
ฟิลลิป (ประเทศไทย) | ซื้อ | 40.00 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) | ซื้อ | 40.00 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | ซื้อเก็งกำไร | 36.25 |
หยวนต้า (ประเทศไทย) | ซื้อเก็งกำไร | 38.00 |
เอเอสแอล | ทยอยซื้อ | 43.00 |
เอเชีย เวลท์ | ซื้อ | 45.00 |
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้เหตุผลแนะ”ซื้อ”หุ้น KTC เนื่องจากสินเชื่อในปีนี้คาดว่าจะยังเติบโตได้ในระดับ 2% ชะลอตัวจากปีที่แล้วที่เติบโต 9% ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นหลัก ขณะที่มาตรการของภาครัฐฯที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ แม้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มสินเชื่อรายย่อย แต่ก็น่าจะถูกชดเชยจากภาพรวมสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นได้
เบื้องต้นปีนี้คาดว่า KTC จะไม่ตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นมากหลังจากได้ตั้งสำรองฯไว้มากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น กำไรของ KTC ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปีที่แล้ว ที่มีกำไรราว 5,500 ล้านบาท และราคาหุ้นในปัจจุบันก็ถือว่ายังมี upside อยู่มากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมาย
สำหรับหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่มีอยู่ 4% หลังจากที่ได้ใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ เนื่องจากไตรมาส 2/63 คงจะรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ปีนี้คาดว่า NPL ของ KTC จะอยู่ที่ราว 6% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่อยู่ในระดับราว 1%
บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ฯมองปัจจัยพื้นฐานของ KTC ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะสั้นเท่านั้น จึงเชื่อว่าภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในเขตเมืองจะทำให้ประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อ KTC
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/63 หดตัวอย่างหนัก จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตของ KTC เนื่องจากปกติส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มร้านอาหารและกลุ่มท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยคาดว่าในไตรมาส 2/63 จะเห็นการเร่งตัวของหนี้ NPL เพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายสำรองที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ KTC มีความตั้งใจที่จะใช้เกณฑ์การตั้งสำรองตามมาตรฐาน TFRS9 โดยไม่ใช้เกณฑ์ผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น คาดว่าตัวเลข NPL ในช่วงไตรมาส 2/63 ที่ออกมา จะสะท้อนสถานการณ์จริงในปัจจุบันแล้ว ทำให้ความกังวลต่อ NPL ที่อาจจะสูงขึ้นในภายหลังมีแนวโน้มลดลง
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเอสแอล ระบุว่าภาพรวมผลดำเนินงานของ KTC ได้รับผลกระทบในระยะสั้น โดยเฉพาะในไตรมาส 2/63 แต่มองว่าราคาที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้น่าจะสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว และมองว่ามีการปลดล็อกดาวน์เป็น Sentiment เชิงบวกและช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้ามากขึ้น ส่งผลต่อแนวโน้มผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
พร้อมปรับลดกำไรสุทธิปี 63 ลงมาสู่ระดับ 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน จากการเติบโตของปริมาณการใช้บัตรเครดิต และยอดสินเชื่อส่วนบุคคลที่หดตัวลงในช่วงไตรมาส 2/63 ที่มีการล็อกดาวน์ประเทศกว่าครึ่งไตรมาส ส่งผลให้แนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 หดตัวลง แต่คาดว่าผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 63)
Tags: Consensus, KTC, บัตรกรุงไทย, หุ้นไทย, อดิสรณ์ มุ่งพาลชล