นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังมีความผันผวนตามทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลก ตอบรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน
โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ตรงกันข้ามกับแนวโน้มของตลาดหุ้นที่กลับมาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ V-shape จากการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างภาพของเศรษฐกิจที่แท้จริงและภาพของตลาดหุ้น จึงยังมีความเสี่ยงในเรื่องความอ่อนไหวของตลาดที่จะมีโอกาสผันผวนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศของเอเชียที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมากว่า 1 เดือนแล้ว ทำให้ภาพรวมมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอีกระยะ แม้จะเตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่มองว่าอาจจะไม่กลับเข้ามาเร็วจากเงื่อนไขหลายๆ อย่าง
ขณะเดียวกัน การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังจากร่วงลงไปที่จุดต่ำสุดของปีนี้ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หุ้นในตลาดหุ้นไทยถือว่าราคาค่อนข้างแพงมากแล้ว โดยอยู่ที่ระดับ P/E กว่า 19 เท่า ตรงกันข้ามกับแนวโน้มของผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะไตรมาส 2/63 ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาเต็มที่ ทำให้ราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เผชิญแรงขายออกมาได้ ซึ่งจะกดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงได้
“รอบนี้หุ้นกลับมาขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ V-shape ทำให้มีความเสี่ยงจากความอ่อนไหวของตลาด เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอาจจะเห็นราคาถูกแล้ว เป็นโอกาสเข้ามาเก็งกำไร ซึ่งยังไม่ได้สะท้อนภาพแท้จริงของเศรษฐกิจและ Earning ของบริษัทจดทะเบียน ทำให้ตลาดมีความอ่อนไหว จากช่องว่างของภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ตรงกันข้ามกัน”
นายวิน กล่าว
พร้อมกันนี้มองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังไว้ที่ 1,200-1,500 จุด โดยที่กรณีที่ดีที่สุดมีโอกาสที่ดัชนีจะขึ้นไปแตะ 1,500 จุดหากการควบคุมโควิด-19 ในยังเป็นไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเปิดประเทศให้การท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นกลับมา ประกอบกับมารตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และการลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ จะสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุน ทำให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยบ้างหลังจากไหลออกไปค่อนข้างมากกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว
แต่หากเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 จะกระทบต่อภาคธุรกิจ และทำให้การจ้างงานลดลงกระทบกำลังซื้ออีกรอบ รวมไปถึงหากแนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงอีกรอบ มองว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับลดลงไปที่ระดับ 1,200 จุดได้ จึงแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในช่วงที่ตลาดเต็มไปด้วยปัจจัยความไม่แน่นอน โดยหุ้นที่แนะนำที่สามารถลงทุนได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจะเป็นกลุ่มหุ้น Defensive ที่มีปันผลดี มีความผันผวนของราคาน้อย เช่น กลุ่มไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มการลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อย เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มอาหาร และกลุ่มค้าปลีก ที่ปัจจุบันเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมา
ขณะที่ยังคงให้ระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเผชิญความเสี่ยงจากหนี้เสียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสูง โดยในตอนนี้ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ของภาครัฐที่ช่วยเหลือลูกหนี้อยู่ถึงสิ้นปี 63 และ กลุ่มพลังงาน หลังจากราคาหุ้นดีดกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วตามทิศทางราคาน้ำมัน เพราะหากราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงอีกรอบจะทำให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงแรงตาม
ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ทาง บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มองว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้เพิ่มเติม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีความสม่ำเสมอ คือ การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในกอง REIT และอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพราะยังให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีเฉลี่ย 4-6% ต่อปี โดยเฉพาะกอง REIT ที่ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภท อาคารสำนักงาน อพาร์ทเม้นท์ให้เช่า ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก และยังให้ผลตอบแทนที่ดีในปีนี้
แต่กอง REIT ที่ลงทุนในอสังริมทรัพย์อิงกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และศูนย์การค้า มีโอกาสที่ผลตอบแทนในปีนี้จะลดลงบ้าง เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ มองว่าการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตเรทติ้ง A ขึ้นไป ยังสามารถเข้าลงทุนได้ เพราะให้ผลตอบแทนสูงในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และยังมีโอกาสเข้าลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นได้ ในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะในระยะกลางเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาจะทำให้ธนาคารกลางเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนสะสม
ล่าสุด บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เปิดตัวกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล เอ็ดดูเคชั่น เทค (PRINCIPAL GEDTECH) ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท กำหนดสั่งซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท และเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 7-15 ก.ค.นี้ เป็นกองทุนแบบ Feeder fund ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียวภายใต้ชื่อ Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) IBP USD เป็นกองทุนหลัก (Master Fund) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดย Credit Suisse Asset Management S.A. ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุน Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารรวม 425 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ มี.ค. 63)
กองทุนหลักดังกล่าว (Master Fund) มีจุดเด่นเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Edutainment ภายใต้อุตสาหกรรม EdTech ทั่วโลก ที่มีสัดส่วนรายได้หลักหรือคาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวสูงกว่า 50% โดยเน้นการลงทุนแบบ Bottom-up เลือกลงทุนในหุ้นรายตัว 40-60 บริษัทที่มีพื้นฐานดี ธุรกิจที่มีนวัตกรรมสินค้าและบริการโดดเด่น ความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร มีศักยภาพการเติบโตและเป็นผู้นำในธุรกิจ
ทั้งนี้ จะชูกลยุทธ์เลือกหุ้นคุณภาพพื้นฐานดี ภายใต้ 3 ธีมหลักคือ อินโนเวชั่นเซอร์วิส ดิจิทัลคอนเทนต์และซิสเต็มแอนด์ทูลส์ โดยมีหุ้นที่เลือกลงทุน อาทิ 2U ธีม Innovative Services ด้านแพลตฟอร์มการเรียนทางออนไลน์ที่มีคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 73 แห่ง มีผู้เรียนกว่า 2.29 แสนราย (ข้อมูล ณ มี.ค. 63), Chegg ธีม Digital Content Platform สำหรับการเช่า ยืม ขายหนังสือในแบบ physical และ online บริการอุปกรณ์กวดวิชาทางออนไลน์และโซลูชั่นสำหรับนักศึกษา, CAE ธีม System and Tools ให้บริการ Simulator training ด้านการแพทย์ การป้องกันและความมั่นคง และการบินพลเรือนผู้นำระดับโลกในการให้บริการ Virtual-to-live ฯลฯ
“ปัจจุบันถือเป็นจังหวะดีที่จะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม EdTech เนื่องจากโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจนี้มีความต้องการใช้บริการและอัตราการเติบโตที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับธุรกิจเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต จึงยังมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุน PRINCIPAL GEDTECH ในพอร์ตการลงทุน เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีที่เติบโตไปพร้อมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้านการศึกษา” นายวิน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 63)
Tags: ตลาดหุ้น, บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล, วิน พรหมแพทย์, หุ้นไทย