นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) เปิดเผยว่า บริษัทปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อลูกค้า รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มที่จะยาวนาน ทำให้เบื้องต้นวางเป้าหมายที่ลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ราว 300 ล้านบาท พร้อมกับดูแลเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิที่ราว 51% เหมือนในปัจจุบัน พร้อมกับปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้เหลือไม่ต่ำกว่า 5.5 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ระดับ 6.7 พันล้านบาท ขณะที่ในปี 62 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 5.25 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะคาดการณ์รายได้ที่เติบโตไม่มากนักในปีนี้ รวมถึงปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสภาพคล่องและรักษากำไร แต่บริษัทยังไม่หยุดการลงทุน ซึ่งเดิมวางเป้าหมายจะใช้เงินราว 4 พันล้านบาทใช้ลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในมือ แต่ล่าสุดเพิ่มงบลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทรองรับดีลร่วมทุนธุรกิจรูปแบบใหม่เป็นนวัตกรรมคาดว่าจะเปิดตัวในช่วง 2 เดือนข้างหน้า รวมถึงปีนี้มีแผนปิดดีลร่วมทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นอีก 65 เมกะวัตต์ (MW) ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือเกิน 500 เมกะวัตต์ จากระดับ 360-370 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายระยะยาวในปี 80 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ หรือราว 30% ของกำลังการผลิตของประเทศ
พร้อมกันนี้เตรียมรุกงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ Private PPA ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณงานในมือที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 10-20 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 400-500 ล้านบาท
“ผลกระทบจากโควิดในกลุ่มธุรกิจเรามีไหม ในวันนี้เราเชื่อว่ากระทบ กระทบที่อาจจะชะลอเพราะการเดินทางไม่ได้ ทุกคนก็อยากเก็บเงินก่อนเพื่อรอดูเหตุการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอะไรขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ประเด็นสำคัญหาเงินไม่ได้ด้วย ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งทำคือลดค่าใช้จ่ายทุกด้าน…ถามว่าเหตุการณ์โควิดกระทบไหม กระทบมาก กระทบต่อ SPCG มากไหม ไม่มาก เพราะว่าโควิดแค่ไหน แสงอาทิตย์ก็มา โควิดแค่ไหน ทุกคนก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายตัวเอง เราก็ชวนมาแปะโซลาร์รูฟของเรา”
นางวันดี กล่าว
นางวันดี กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมเม็ดเงินสำหรับการลงทุนในโครงการตามแผนแล้ว โดยล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 อนุมัติออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินหุ้นกู้เดิมที่มีอยู่ 1.3 หมื่นล้านบาท จะทำให้มีวงเงินเพื่อรองรับการลงทุนรวม 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการออกหุ้นกู้ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุน ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.53 เท่าทำให้มีความคล่องตัวอยู่มาก
ปัจจุบัน SPCG มีกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์ม แบ่งเป็น โครงการในไทย 36 แห่ง กำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ฟาร์ม Tottori Yonago Mega Solar ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66
โครงการโซลาร์รูฟ ภายใต้บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR) ซึ่งเน้นโซลาร์รูฟบนที่พักอาศัยและตลาดเชิงพาณิชย์ เช่น โฮมโปร เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยกว่า 20 เมกะวัตต์ ขณะที่ยังมีการดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุน MSEK Power โดยมี Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited (MUL) บริษัทการเงินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 58% โดย MSEK จะรุกตลาดกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรม ปัจจุบันมีงานในมือรวม 15-20 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 400-500 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะได้งานมากขึ้น เพราะ MUL มีฐานลูกค้าญี่ปุ่นในมือค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันการรับงานอาจชะลอไปบ้างหลังเผชิญสถานการณ์โควิด
นอกจากนี้ SPCG ยังมีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้แทนจำหน่ายและผู้ให้บริการ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) อย่างเป็นทางการ ของ SMA จากประเทศเยอรมนี และบริษัท สตีลรูฟ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านหลังคาเหล็กชั้นนำ
นางวันดี กล่าวว่า สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในไทยนั้นปัจจุบัน COD ครบทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 57 โดยได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) อัตรา 8 บาท/หน่วย เป็นเวลา 10 ปี และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานตามปกติอัตรากว่า 3 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ได้รับอยู่ที่กว่า 11 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตาม Adder จะเริ่มทยอยหมดอายุลง โดยโครงการแรกจะหมดอายุในปี 63 และปี 64 จะมี Adder หมดอายุ 4 โครงการ และหมดอายุครบทุกโครงการในปี 67 ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปประมาณ 60% ของปัจจุบัน ขณะที่เบื้องต้นบริษัทมีการลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima ในญี่ปุ่น ที่จะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 66 ก็จะเข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปได้
บริษัทยังมองหาโครงการไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นที่โซลาร์ฟาร์มเป็นหลัก มองโอกาสทั้งในไทยและญี่ปุ่น ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ได้ให้ความสนใจ เนื่องจากมองว่าอัตราการรับซื้อเบื้องต้นของโรงไฟฟ้าชุมชนที่ 2.90 บาท/หน่วยไม่จูงใจ รวมไปถึงโครงการโซลาร์รูฟ ภายใต้โครงการโซลาร์ประชาชน เบื้องต้นคาดว่ารัฐบาลจะปรับราคารับซื้อเป็น 2 บาท/หน่วยจากเดิม 1.68 บาท/หน่วย ก็ไม่ให้ความสนใจเพราะราคาไม่จูงใจเช่นกัน
ทั้งนี้ บริษัทมองหาโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและอยู่ภายใต้ PPA ที่มีราคารับซื้อสูงกว่าอัตราปัจจุบันที่ทางญี่ปุ่นรับซื้อ 21 เยน/หน่วย ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจา 1 โครงการ 65 เมกะวัตต์ ซึ่งหวังจะให้จบดีลภายในปีนี้
ส่วนโครงการโซลาร์รูฟ ก็จะเน้นการติดตั้งให้กับลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้บริษัท MSEK โดยอาศัยฐานลูกค้าโรงงานญี่ปุ่นในไทยจาก MUL
“เราวิเคราะห์ว่าโควิดค่อนข้างวิกฤติ เรากำลังทบทวนดูเช็คเป็นรายตัว อาทิตย์นี้ก็จะมาเคลียร์กับทีมในส่วนของ MSEK มารีวิวกัน Q1 เราไม่กระทบ และคิดว่า Q2 เราก็ไม่กระทบ แต่ภาพรวมต้องมาดูกันอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งสำค้ญคือรายได้และกำไรเราต้องพยายามเดินไปด้วยกัน ส่วนปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขอดูปีนี้ก่อนว่ารุนแรงเหมือนที่เราคิดหรือไม่”
นางวันดี กล่าว
นางวันดี ประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 มีโอกาสที่จะฉุดให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ -10% และหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมก็อาจจะหดตัวเป็น -12% โดยประมาณการดังกล่าวนับเป็นการมองเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ที่ -8.1% ในปีนี้
สำหรับผลการดำเนินงานของ SPCG ในปี 62 มีกำไรสุทธิ 2.67 พันล้านบาท โดยสามารถผลิตไฟฟ้าตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดที่ระดับ 397 ล้านหน่วย และในปี 63 วางเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าในระดับไม่ต่ำกว่า 390 ล้านหน่วย ขณะที่ล่าสุดกลุ่ม บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็น 11.5% จากช่วงเริ่มต้นที่ถืออยู่ราว 8% โดยมองว่า GULF อาจจะเห็นเรื่องของผลประกอบการและการดำเนินงานของบริษัทที่ดีทำให้เข้ามาถือหุ้นในลักษณะการลงทุนเพิ่มเติม โดย GULF ไม่ได้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการในบริษัทแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 63)
Tags: SPCG, วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ, หุ้นไทย, เอสพีซีจี, โซลาร์ฟาร์ม, โซลาร์รูฟ