นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.06 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์
“เงินบาทแข็งค่าตามเงินหยวน…ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐฯยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา โดยเฉพาะ ISM ภาคบริการของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นเกินคาด” นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.95 – 31.10 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดยังขาดทิศทางและปัจจัยที่ชัดเจน ประกอบกับสัปดาห์นี้ยังไม่มีประเด็นหรือปัจจัยสำคัญๆ
THAI BAHT FIX 3M (3 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.34354% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.43176%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 107.31 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ (3 ก.ค.) ที่อยู่ที่ระดับ 107.46/49 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1317 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ (3 ก.ค.) ที่อยู่ที่ระดับ 1.2300/2333 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.1140 บาท/ดอลลาร์
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท สำหรับสัปดาห์นี้ (6-10 ก.ค.) อยู่ที่ 30.80-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ตลอดจนปมขัดแย้งในประเด็นฮ่องกงระหว่างจีน และนานาประเทศ
- “นักเศรษฐศาสตร์” ฟันธง “วิกฤติโควิด” ทุบเศรษฐกิจไทยหนักสุดเป็นประวัติการณ์ “จีดีพี” หดตัวลึกกว่าต้มยำกุ้ง “ศูนย์วิจัยกสิกร” ห่วงคุณภาพหนี้ พร้อมแนะจับตาปัญหาว่างงาน ด้าน “วิจัยกรุงศรี” เผยเอกชนขาดสภาพคล่องหนักกว่า 1.7 ล้านล้าน แนะรัฐเร่งเติม ป้องวิกฤติลากยาว ด้าน “แบงก์กรุงเทพ” ระบุครั้งนี้ หนักสุดรอบ 150 ปี ชี้คนกลุ่มล่างอ่วมสุด ขณะ “อีไอซี” ฟันธง เศรษฐกิจฟื้นรูปตัว “ยู” มองวิกฤติครั้งนี้เปิดจุดอ่อนประเทศ ด้านเทคโนโลยี
- “ส.อ.ท.” จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง แม้คลายล็อกดาวน์ ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ แต่กำลังซื้อลดลง สาหัสทั้งไทยและโลก หวั่นเอสเอ็มอีประคองตัวเองไม่รอด หากไม่รีบแก้ไข ส่อเป็นสึนามิเศรษฐกิจระดับรุนแรง จี้งบฟื้นฟูต้องคัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้จริง นัดประชุมใหญ่สามัญ 29 ก.ค. เลือก “สุพันธุ์” ไปต่อ นั่งประธานขับเคลื่อนองค์กรให้ต่อเนื่องกู้ชีพเศรษฐกิจไทย
- วิจัยกรุงศรี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 10.3% ในปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5% จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนาน คาดท่องเที่ยวต่างชาติวูบ
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้จัดทำคาดการณ์การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทยช่วงวันหยุดยาว เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาปีนี้ ระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทาง 1.42 ล้านคน ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าในสถานการณ์ปกติที่มีผู้เยี่ยมเยือนเดินทางท่องเที่ยว 2 ล้านคน-ครั้งขึ้นไป ในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วันเช่นเดียวกัน และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 4,660 ล้านบาท
- คลังออกมาตรการภาษีสรรพสามิตชุดใหญ่ อุ้มภาคธุรกิจ-แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์นั่งสามล้อแบบไฟฟ้า น้ำผัก-ผลไม้ บุหรี่-ยาสูบ พร้อมยกเว้นเก็บภาษีจนถึง 30 ก.ย.63 แลกกับให้บริษัทคงการจ้างงานไว้
- นักเศรษฐศาสตร์จีนหลายรายต่างมีมุมมองแง่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยพวกเขาชี้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะกลับเข้าสู่การเติบโตเชิงบวกในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวระลอกใหม่หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19
- โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ เป็นร่วงลง 4.6% ซึ่งแย่กว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อนว่าจะหดตัวลง 4.2%
- สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลารสหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) ขานรับรายงานยอดค้าปลีกของยูโรโซนที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนพ.ค. หลังจากรัฐบาลในหลายประเทศของยุโรปเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและทั่วโลก
- นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย.
- ตลาดรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน และรายงานนโยบายการเงินซึ่งจะมีการเปิดเผยมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท