นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้พลาสมาสร้างภูมิคุ้มกันว่า เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่เป็นการนำยารักษาโรคที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้รักษาผู้ป่วยไปตามอาการที่เกิดขึ้น และจากการศึกษาพลาสมาของผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วพบว่ามีภูมิคุ้มกันที่ต้านทานโรคโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าภูมิคุ้มกันจะมีความคงทนราว 6 เดือน
“ในขณะที่ยังไม่มียารักษา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน พลาสมาจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการใช้แอนตี้บอดี้ทางอ้อม วัคซีนจะเป็นแอนตี้บอดี้ทางตรง” นพ.ยง กล่าว
ดังนั้นอาสาสมัครที่จะบริจาคพลาสมาได้ต้องหายป่วยจากโรคแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน หลังจากนั้นต้องตรวจว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 แล้ว อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีแต่ไม่เกิน 60 ปี น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม ร่างกายแข็งแรงตามเงื่อนไขการบริจาคโลหิต ไม่มีโรคประจำตัว โดยอาสาสมัครสามารถบริจาคได้ทุก 2 สัปดาห์ รวม 6 ครั้ง
ขณะนี้มีอาสาสมัครแล้วมากกว่า 150 คน ทำให้ได้พลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงมากกว่า 250 ถุง ซึ่งจะใช้พลาสมารักษาผู้ป่วย 1-2 ถุง/คน ซึ่งในสหรัฐมีการใช้ไปแล้วกว่า 1 หมื่นถุง แล้วพบว่ามีความปลอดภัย ได้ผลดี แต่ที่ใช้ไม่ได้ผลคือผู้ป่วยอาการวิกฤต และสามารถเก็บสำรองไว้ใช้ได้นาน 1 ปี หากในอนาคตมีผู้มาบริจาคพลาสมาเป็นจำนวนมาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสามารถนำพลาสมามาผลิตดังกล่าวเป็นเซรุ่มเหมือนที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-บี หรือโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะเก็บรักษาไว้ได้นานมากขึ้น
นพ.ยง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาราว 2 เดือนแล้ว ซึ่งสามารถติดตามผู้ที่เคยป่วยราว 300 ราย โดย 10% ตรวจไม่พบภูมิต้านทานเนื่องจากได้รับเชื้อน้อย ไม่มีอาการ ในทางตรงกันข้ามผู้ที่เคยป่วยแล้วมีอาการหนักจะมีภูมิต้านทานสูง ระยะต่อไปจะศึกษาความคงทนของภูมิต้านทานว่ายาวนานเพียงใด โดยตรวจเลือดผู้ที่เคยป่วยทุก 3 เดือน และหลังจากมีวัคซีนใช้งานแล้วจะสามารถผลิตพลาสมาได้เพิ่มขึ้น
“เราต้องวิธีการเตรียมพร้อมหาพลาสมาที่มีภูมิต้านทานโรคโควิด-19 ไว้ในการรักษาต่อไป ถ้าจะมีเวฟสองหรือเวฟสาม อย่างน้อยเราก็มีพลาสมาเป็นเครื่องมือไว้รักษา” นพ.ยง กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 63)
Tags: COVID-19, พลาสมา, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19