นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง รวมทั้งมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก สถานประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวและถาวร กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ การจ้างงาน ภาคการเกษตร และภาคการส่งออก
ซึ่งผู้ประกอบอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตเยียวยาฟื้นฟูและอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ดำเนินมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในบางสินค้าเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ 1.รถยนต์ (ประเภทรถยนต์นั่งสามล้อแบบพลังงานไฟฟ้า) เพิ่มพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งสามล้อแบบพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์นั่งสามล้อที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการจ้างงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยกำหนดให้เสียภาษีตามมูลค่า 2% (จากเดิม 4%)
2.เครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารและสารอื่นแก้ไขอัตราส่วนผสมของน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารหรือสารอื่นจาก 20% เป็น 10% เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม โดยคำนึงถึงนวัตกรรมในปัจจุบัน และผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
3.สนับสนุนให้สถานบริการคงปริมาณการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างไม่ให้ตกงาน สถานบริการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีปริมาณการจ้างงานเท่ากับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะได้รับสิทธิเสียภาษีอัตราตามมูลค่า 0% ของรายรับของบริการจนถึงวันที่ 30 ก.ย.63 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการรวมทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว
4.ขยายเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีปัจจุบันของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไปถึงวันที่ 30 ก.ย.64 และเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไป โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบและยาเส้นและเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบและยาเส้นได้รับการเยียวยาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
และ 5.ขยายเวลาในการส่งสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกนอกราชอาณาจักรหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรจากเดิมภายใน 15 วัน และขยายได้อีก 15 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน เปลี่ยนเป็นภายใน 30 วัน และขยายได้อีก 30 วัน รวมถึงขยายได้หากมีความจำเป็นอีก 60 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 120 วัน และขยายเวลาในการส่งเอกสารหลักฐาน จากเดิมภายใน 60 วันและขยายได้อีก 60 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 120 วัน เปลี่ยนเป็นภายใน 90 วัน และขยายได้หากมีความจำเป็นอีก 60 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 150 วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 63)
Tags: กรมสรรพสามิต, กระทรวงการคลัง, ธนกร วังบุญคงชนะ, มาตรการภาษี