นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ได้เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเกิดสถานการณ์เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก
ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมากอยู่แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง หลังจากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่เหมาะสมในช่วงก่อนหน้านี้ แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ได้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ จะส่งผลให้โครงสร้างของกลุ่มทุนในไทยเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเดียวกับวิกฤติปี 2540 นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกลุ่มอาชีพต่างๆ แตกต่างกันไป โดยกลุ่มอาชีพทักษะสูงรายได้สูงนั้นเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้มากกว่าอาชีพที่ใช้ทักษะกลางหรือทักษะต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยวธุรกิจในสถานบันเทิง ค้าขายและบริการ สนามมวย ผับบาร์ อาบอบนวด เป็นต้น หรืองานที่ต้องใช้ทักษะระดับกลาง เช่น ลูกจ้างและแรงงานในสายการผลิตของโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่อาศัยการส่งออก เนื่องจากส่งออกของไทยหดตัวรุนแรง เนื่องจากเงินเดือนมีความสัมพันธ์กับทักษะ
“ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้จะส่งผลต่อลูกจ้างกลุ่มรายได้ระดับกลางและระดับต่ำอย่างรุนแรงกว่าพนักงานระดับบริหารมีรายได้สูงส่วนใหญ่สามารถทำงานที่บ้านได้ ไม่สัมผัสใกล้ชิดได้ แรงงานกลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มระดับเงินเดือนสูงที่สุด ขณะนี้กว่าร้อยละ 40-50 ของกลุ่มลูกจ้างที่จัดว่ามีเงินเดือนต่ำและค่อนข้างต่ำนั้น เจอภาวะ ‘สองเสี่ยง’ คือ ปิดเมืองก็เสี่ยงจากการสูญเสียรายได้ เปิดเมืองก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยที่กลุ่มลูกจ้างรายวันและอยู่ภายใต้การจ้างงานแบบเหมาช่วงได้รับผลกระทบมากที่สุด และขณะนี้มีการทยอยเลิกจ้างจำนวนมาก โดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมาย” นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมระบุว่า การคลายล็อกดาวน์เฟส 5 บรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีแรงงานจำนวนมากยังเสี่ยงต่อการว่างงาน รัฐต้องไม่ซ้ำเติมปัญหาด้วยการเลิกจ้างพนักงานองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจในขณะนี้ แต่รัฐควรสนับสนุนทางงบประมาณเพื่อให้องค์กรที่ประสบภาวะขาดทุนสามารถดำเนินกิจการและรักษาการจ้างงานไปให้ได้ก่อนในช่วงนี้ การดำเนินการปฏิรูปองค์กรที่จะนำมาสู่การลดขนาดองค์กรหรือการเลิกจ้างควรชะลอไปก่อน ควรปฏิรูปองค์กรหรือแก้ปัญหาการประสบปัญหาฐานะทางการเงินหรือภาวะหนี้สินด้วยวิธีการอื่นๆก่อน การเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้านอกจากสร้างภาวะตื่นตระหนกในระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในตลาดแรงงานอีกด้วย
ทั้งนี้ จะได้เสนอให้สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกรณีการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ภายใต้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ” หรือเรียกโดยย่อว่า “ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” โดยศูนย์เฉพาะกิจจะดำเนินการรับข้อร้องเรียนและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยผ่านระบบ Website ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยทางศูนย์เฉพาะกิจจะทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานต่างๆ
ในกรณีที่มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมขนาดใหญ่ มีการเลิกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ทางศูนย์เฉพาะกิจฯ จะจัดหานักวิชาการด้านแรงงานและทนายความอาสาสมัครเข้าร่วมการเจรจาต่อรอง เพื่อให้แรงงานได้รับค่าชดเชยให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่แก้ไขล่าสุด
ส่วนการเยียวยาและรองรับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างที่กระทบอย่างรุนแรงต่อความยากลำบากของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเฟส 5 แล้ว ควรจะทำให้สถานการณ์การจ้างงานกระเตื้องขึ้น แต่การกระเตื้องขึ้นเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช.และรัฐบาลต่อเนื่องมาจาก คสช.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปฏิรูปทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร อาจมีความริเริ่มบางอย่าง เช่น การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านกฎหมายภาษีมรดก และความพยายามจัดตั้ง บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ การผ่านกฎหมาย PPP เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหา
“ยุทธศาสตร์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก และการร่างแผนยุทธศาสตร์ ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมและเป็นแผนแบบราชการ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ Address ปัญหาในเชิงโครงสร้าง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจก็หวังพึ่งพาทุนขนาดใหญ่มากเกินไป ยิ่งบริหารยิ่งทำให้อำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจควบแน่นมากขึ้น แทนที่จะทำให้คลายตัว เปิดเสรีเพิ่มการแข่งขัน มุ่งสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา ผลงานคือรัฐบาลสามารถเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพได้ดี ทั้งระบบราง ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเรื่องการลงทุนทางด้านวิจัยและสร้างนวัตกรรม การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การทำให้ประเทศไทยมีระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง มีกฎระเบียบที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล ผ่อนคลายกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นที่ทำให้เกิดคอขวดในการลงทุน และการจัดการทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ซึ่งการลงทุนและการดำเนินการเหล่านี้ บางทีอาจสำคัญมากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพด้วยซ้ำไป
นายอนุสรณ์ ระบุว่า การปิดเมืองที่ผ่านมา ได้ส่งผลระยะยาวทำให้กิจการบางส่วนประสบภาวะล้มละลายและไม่สามารถฟื้นกลับมาได้อีก การมีมาตรการเยียวยาลูกจ้างควบคู่นโยบายที่ช่วยเหลือหรือเพิ่มแรงจูงใจให้นายจ้างไม่ปลดพนักงานมีความสำคัญมาก และต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจภายในเติบโตมากขึ้นจากมาตรการการคลังและนโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ การว่างงานระยะยาวอาจทำให้ลูกจ้างสูญเสียทักษะการทำงานและลดทอนความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ รวมทั้งไทยยังคงอยู่บนเส้นทางของความถดถอยต่อไปนานกว่าที่ควรจะเป็น
อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ แรงงานส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไร้ความคุ้มครองจากการประกันสังคมภาคบังคับ ยกเว้นเข้าสู่มาตรา 39 และ มาตรา 40 กรณีจ่ายเงินสมทบเองของกฎหมายประกันสังคม กลุ่มเปราะบาง ที่สมาชิกในครอบครัวต้องอาศัยรายได้จากการทำงานของหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว หากว่างงาน ครอบครัวเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่รัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายจากปัญหาทางเศรษฐกิจมากที่สุดและมักจะเป็นลักษณะฆ่ายกครัว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาโดยด่วน
“สังคมไทยไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการรักษาเศรษฐกิจ หรือรักษาชีวิตคน แต่ประเทศไทยต้องมีนโยบายหรือมาตรการในอนาคตที่สามารถรักษาระบบเศรษฐกิจ และการจ้างงาน การมีรายได้ ไปพร้อมกับการรักษาชีวิตผู้คนและป้องกันการแพร่ระบาดไปได้พร้อมกัน” นายอนุสรณ์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 63)
Tags: ตกงาน, ล็อกดาวน์, ว่างงาน, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เลิกจ้าง, โควิด-19