น.ส.ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ย้อนมองการกำกับดูแลด้านซื้อขายหลักทรัพย์จากในอดีตมาสู่ในยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ การเกิดขึ้นของสื่อบนโลกโซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่มีการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วในหลากหลายช่องทาง ทำให้งานด้านกำกับซื้อขายหลักทรัพย์มีความท้าทายและยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่อนข้างมีความพร้อมระบบบริหารจัดการ พร้อมกับมีเครื่องมือที่เป็นกฎเกณฑ์และมาตรการที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อใช้กำกับหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในลักษณะผิดปกติ
“สิ่งที่เปลี่ยนไปจากอดีตคือความรวดเร็วของข้อมูลและข่าวสารส่งผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องเข้ามาติดตามอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียนในการชี้แจงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอาจเกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวลือต่างๆ มีผลกับราคาซื้อขายในช่วงเวลานั้น เป็นหนึ่งในหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนเพื่อนำไปพิจารณาตัดสินใจลงทุนในหุ้นบริษัทนั้นต่อหรือไม่”น.ส.ปวีณา กล่าว
น.ส.ปวีณา เล่าถึงวิธีการตั้งข้อสังเกตหุ้นผิดปกติว่า แม้ว่าบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นเพียงผู้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นและตั้งข้อสมมติฐานก่อนจะส่งเรื่องให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้อำนาจตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกและกำหนดบทลงโทษต่อไป
แต่การพิจารณาขั้นตอนแรกนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าหลักทรัพย์นั้นเข้าข่ายหุ้นปั่นหรือไม่ ในขั้นตอนแรกตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเริ่มอาศัยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาและปริมาณซื้อขายผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลหลายๆ มิตินำมาประกอบการพิจารณา
ในกรณีเป็นหุ้นเข้าข่ายซื้อขายผิดปกติ แต่ไม่ได้เข้าข่ายปั่นหุ้น เช่นบริษัทนั้นอาจมีเหตุผลโอกาสการเติบโตของกำไรก้าวกระโดดในอนาคตมาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาเคลื่อนไหวผิดปกติ ในกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯเข้าไปตรวจสอบแล้วกลับไม่มีปัจจัยสนับสนุนราคา ก็จะเริ่มดำเนินในขั้นตอนต่อไปคือเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมกับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงความเชื่อมโยงด้านความสัมพันธ์ด้านต่างๆ เป็นต้น
ยันมาตรการสกัด “หุ้นร้อน” ยังใช้ได้ผล
น.ส.ปวีณา กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติย้อนหลังพบว่าภายหลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มประกาศใช้มาตรการสกัดหุ้นร้อนและหุ้นมีปริมาณซื้อขายผิดปกติเมื่อปลายปี 57 ในช่วงแรกมีจำนวนหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายอยู่ประมาณกว่า 100 หลักทรัพย์ ต่อมาจำนวนหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายก็ทยอยลดลงมาตามลำดับ และในปี 61 พบว่าเหลือเพียงประมาณกว่า 10 หลักทรัพย์ฯเท่านั้น
ขณะที่ล่าสุดยังไม่มีหลักทรัพย์รายใดที่เข้าข่ายใช้มาตรการกำกับการซื้อขายเลย เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวใช้ได้ผล เพราะจำนวนหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ไม่ได้กระทบกับสภาพคล่องหมุนเวียนที่เป็นมูลค่าซื้อขายตามปกติในแต่ละวัน โดยปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน
“ถ้าพูดถึงหุ้นผิดปกติ กับหุ้นปั่น ความหมายจะคล้ายๆ กัน มีเพียงเส้นบางๆ กั้นไว้ แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าหุ้นปั่น นั่นคือผู้กระทำมีส่วนเกี่ยวข้องกำลังทำผิดกฎหมาย แต่ในกรณีหุ้นผิดปกติตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่เตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวัง ด้วยการใช้มาตรการกำกับการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ ต้องบังคับให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนรายย่อยไปกู้ยืมเงินมาเก็งกำไรระยะสั้น เพราะอาจจะมีความเสี่ยงและสร้างความเสียหายได้ในระยะถัดไป” น.ส.ปวีณา กล่าว
ผู้ลงทุนต้องทันเกม “ปั่นหุ้น” ยุคใหม่
สำหรับคำแนะนำที่อยากให้ผู้ลงทุนตั้งสังเกตว่าหุ้นบริษัทนั้นมีโอกาสเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่นหรือมีโอกาสมีความเสี่ยงหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลอ้างอิงของตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นส่วนหนึ่งใช้ตัดสินใจ ประกอบด้วย
แนวทางแรก คือ ควรพิจารณาการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณหุ้นบริษัทนั้นว่าเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าผิดปกติตลาดหลักทรัพย์จะให้เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายทันที ยิ่งในกรณีไม่มีปัจจัยสนับสนุน แต่มีปริมาณซื้อขายเข้ามามากในช่วงเวลาสั้น และไม่สม่ำเสมอ ก็เป็นหนึ่งในจุดสังเกตได้ว่าผู้ลงทุนอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอีกหรือไม่
แนวทางสอง คือ ข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขอความร่วมมือกับบริษัทจดทะเบียนชี้แจง หลังจากราคาหุ้นบริษัทนั้นปรับขึ้นหรือลดลงแบบผิดปกติ บริษัทจดทะเบียนจะเปิดเผยข้อเท็จจริง อาทิ ประเด็นซักถามเกี่ยวกับผลประกอบการ หรือโครงการใหม่ เป็นปัจจัยมีผลต่อราคาหุ้นบริษัทโดยตรง ซึ่งผู้ลงทุนควรพิจารณาเหตุผลที่บริษัทจดทะเบียนชี้แจง ประเด็นนี้ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณตัดสินใจเช่นกัน
แนวทางสาม ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีแนวทางสอบถามไปบริษัทจดทะเบียนนั้นทันทีในกรณีเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ โดยกำหนดระยะเวลาในการตอบข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับความผิดปกติบางรายการ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปพิจารณาตัดสินใจว่าจะลงทุนในบริษัทนั้นต่อไปอย่างไร
ส่วนแนวทางสี่ เป็นช่วงหลังจากบริษัทจดทะเบียนรายงานงบการเงินรายไตรมาส ในกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายการผิดปกติบางประการจะสอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียนรายนั้น เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับงบการเงิน นับเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบเพื่อรู้ทันความผิดปกติที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นได้เช่นกัน
แผนปี 63 ร่วมมือ ก.ล.ต.กำหนดเกณฑ์กำกับหุ้น SMEs-สตาร์ทอัพ
สำหรับแนวนโยบายกำกับหลักทรัพย์และกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในปี 63 มุ่งเน้นกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับหน่วยงาน ก.ล.ต. มากขึ้น โดยเฉพาะปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่มีความซ้ำซ้อนกันบางประการ เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลและประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ กรณีภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และสตาร์ทอัพ สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาร่วมกับ ก.ล.ต.ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆจะมีความแตกต่างกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai อย่างไร แต่ที่สำคัญยังให้น้ำหนักกับเรื่องการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นหลัก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 63)
Tags: VDO, ก.ล.ต., ตลท., ตลาดหลักทรัพย์