พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญว่า ความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากการขยายตัวทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่มีแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในทุกด้าน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 38 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ถึง 872 ล้าน ลบ.ม. โดยได้รับจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนแล้ว 16 โครงการ เมื่อเสร็จตามแผนงานก่อสร้างปี 65 จะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 253.6 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะโครงการระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง (ปี 60-65) ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 64 ในส่วนอีก 22 โครงการ มีแผนงานตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป โดยการประชุมในวันนี้ มีโครงการสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อน 17 โครงการ ใน 7 กลุ่มโครงการ ได้แก่
1.โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-66 ซึ่ง สทนช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เร่งขับเคลื่อนโครงการ โดยมอบหมาย ปตท. และ อีสท์ วอเตอร์รวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีและวิเคราะห์ราคาค่าน้ำที่เหมาะสมคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อกำหนดหน่วยงานของรัฐขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 64
2.โครงการพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับอุตสาหกรรม 12 ล้าน ลบ.ม. ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลระดับลึก ใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำบาดาล ปี 63 ศึกษาสำรวจและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ ให้เสนอผลการศึกษาต่อ สทนช. เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 64 และให้ทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในระยะต่อไป
3.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำบางปะกง 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-68 และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 27.5 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 66-68 4.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง ความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง ปี 66-68 ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนิน
4.โครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพล้-ประแสร์ จ.ระยอง ความจุ 20 ล้าน ลบ.ม. แผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 69-70 ที่ประชุมเร่งรัดให้ดำเนินการภายได้ในปี 66 เพื่อสามารถผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้เร็วขึ้น 3 ปี
5.กลุ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำเดิม 4 โครงการ ของกรมชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำเดิมในเขตพื้นที่ EEC ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำมาบประชัน จ.ชลบุรี ได้น้ำ 0.6 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 64 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ได้น้ำ 19.74 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 64 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านบึง จ.ชลบุรี ได้น้ำ 2.4 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 65 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว ได้น้ำ 17.5 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 65
6.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำพระสะทึง-คลองสียัด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีแผนงานก่อสร้างใน ปี 71-75 ที่ประชุมเสนอให้เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมโครงการใน ปี 65 เพื่อปรับแผนก่อสร้างให้เร็วขึ้นอีก 2 ปี และโครงการระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ความจุ 6 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 71-73 เสนอปรับแผนก่อสร้างให้เร็วขึ้นในปี 66-68
7.กลุ่มโครงการเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และปรับปรุงขยายเขตการประปาส่วนภูมิภาค จ.ชลบุรี 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. แผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-70 โครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ ผันน้ำได้ 70 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-66 โครงการเครือข่ายน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 ผันน้ำได้ 55 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 69-72 แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพัทยา-แหลมฉบัง–ศรีราชา (เพิ่มเติม) กำหนดแผนเริ่มก่อสร้างปี 65-67 และแผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-(พานทอง)-(ท่าบุญมี) ระยะที่ 2 (เพิ่มเติม) กำหนดแผนเริ่มก่อสร้างปี 65-67 ซึ่งการพัฒนาโครงการในกลุ่มที่ 7 นี้ จะต้องพิจารณาทบทวนตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดด้วย
“แผนงานก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซี หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่จะมีใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม พร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน และที่ประชุมในวันนี้ได้ตั้งคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทางวิชาการเฉพาะด้าน มาเสริมทัพร่วมกันทำงาน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง และยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้อีกด้วย”
พล.อ.ประวิตร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 63)
Tags: EEC, กรมชลประทาน, ทรัพยากรน้ำ, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, อ่างเก็บน้ำ, อีสท์ วอเตอร์, อีอีซี, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก