กราฟราคาหุ้น บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) พุ่งขึ้นมาโดดเด่นอีกครั้ง พร้อมกับแรงซื้อหนาแน่นมาตลอดตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งน่าจะถูกผลักดันจากผลประกอบการไตรมาส 1/63 ที่พลิกมีกำไรเติบโตก้าวกระโดดกว่า 188 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน (ปี 61-62) ขาดทุนสุทธิรวมกันกว่า 400 ล้านบาท เป็นที่น่าสนใจว่าหุ้น ALT กำลังเข้าข่าย”เทิร์นอะราวด์”กลับมาเติบโตได้โดดเด่นอีกครั้งในปีนี้หรือไม่
ALT ยังเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจให้บริการและก่อสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมแบบครบวงจร มีโอกาสได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลที่เตรียมผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้งบการเงินของบริษัทประสบกับการขาดทุนสุทธิมาตลอด 2 ปี คือ การรับรู้ค่าเสื่อมเป็นจำนวนมากจากการลงทุนหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เช่น โครงการสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ให้เช่าตามแนวเสาโทรคมนาคมตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ของไทย และการลงทุนโครงข่ายใยแก้วนำแสงความเร็วสูง (High Speed Fiber Optic) ให้กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เช่าใช้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเส้นทางพหลโยธิน ,สุขุมวิท และพญาไท
อีกทั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมากลุ่มโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือได้ชะลอแผนการลงทุนขยายโครงข่ายไปหลายโครงการ เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าใบอนุญาตใหม่ที่ประมูลได้เป็นหลัก ส่งผลให้งานรับเหมาก่อสร้างฐานและการขายสินค้าโทรคมนาคมชะลอ
แต่ขณะนี้ผลประกอบการของบริษัทส่งสัญญาณเป็นบวกดีขึ้นอย่างชัดเจน เกิดจากปัจจุบันกลุ่มโอเปอเรเตอร์จำเป็นต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐที่นำสายสื่อสารลงใต้ดิน ทำให้ปรับกลยุทธ์หันมาเช่าใช้สาย Fiber Optic กับบริษัทมากขึ้น เพราะไม่ต้องการลงทุนเอง ส่งผลดีกับผลประกอบการของ ALT สะท้อนจากกำไรไตรมาสในไตรมาส 1/63 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้น แนวโน้มในไตรมาส 2/63 ยังส่งสัญญาณเป็นบวกต่อเนื่อง แม้จะเกิดวิกฤติโควิด-19 กระทบต่อหลายอุตสาหกรรมในภาคเศรษฐกิจ แต่ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อหุ้น ALT ในเวลานี้
“ราคาหุ้น ALT ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงช่วงนี้ยอมรับว่าน่าจะเป็นผลบวกจากในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นสาเหตุช่วยผลักดันผลประกอบการ ALT ตลอดทั้งปีนี้กลับมาพลิก “เทิร์นอะราวด์” ได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง”
นางปรีญาภรณ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ได้ลงทุนไปแล้วและรอรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ประจำระยะยาว ประกอบด้วย โครงการ Fiber Optic ให้เช่าตามแนวเสาโทรคมนาคมเส้นทางรถไฟฟ้า, เส้นทางด่วน, ทางหลวง และตลอดแนวเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ รวมถึงเสาโทรคมนาคมในสถานีบริการน้ำมันกลุ่ม ปตท.ทั่วประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน ALT ยังมีสถานีฐานส่งผ่านข้อมูลเชื่อมต่อข้ามชายแดน (Cross border) อีก 14 แห่งเพื่อให้กลุ่มโอเปอเรเตอร์สื่อสารเช่าใช้เพื่อส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเข้าไปใน สปป.ลาว ,เมียนมา ,กัมพูชา ,และมาเลเซีย
และโครงการล่าสุด ALT เข้าไปร่วมตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในชื่อ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด ส่วนหนึ่งเป็นการปรับโครงสร้างภายในองค์กรให้กระจายเข้าไปให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า รองรับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบ”สมาร์ทกริด” (Smart Grid) เป็นระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมั่นว่าจะเห็นโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
นางปรีญาภรณ์ กล่าวต่อว่า บริษัทตั้งเป้าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเพิ่มเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด จากปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 20% ส่วนรายได้ที่เหลือจะมาจากการรับรู้รายได้งานก่อสร้างสถานีฐานและโครงข่าย Fiber Optic ที่ล่าสุด ALT มีปริมาณงานในมือ (Backlog) มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ 60% และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปีถัดไป
“ต้องยอมรับว่างานรับเหมาก่อสร้างโครงข่ายต่างๆ ได้รับมาร์จิ้นที่ดีกว่ารายได้ที่จะเกิดค่าเช่าที่เป็นประเภทรายได้ประจำ แต่มีความมั่นคงที่มากกว่า เพราะแต่ละโครงการที่สร้างรายได้ประจำจะเป็นการเซ็นสัญญากับลูกค้าระยะยาวเป็นเวลา 10-15 ปี หลังจากนี้บริษัทมุ่งเน้นขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเพิ่มฐานลูกค้าให้เติบโตต่อเนื่องในทุกๆปีให้ได้”นางปรีญาภรณ์ กล่าว
ASEAN Digital Hub กุญแจเปิดประตูสู่อนาคต
นางปรีญาภรณ์ กล่าวว่า โครงการในอนาคตอันใกล้ที่กำลังสร้าง NEW-S-Curve ครั้งใหม่ให้กับภาพรวมธุรกิจ ALT คือการผลักดันโครงการ ASEAN Digital Hub ที่ต้องการยกระดับไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งของโครงการออกแบบให้มีจุดเชื่อมต่อกับประเทศไทยที่สถานีเคเบิลใต้น้ำในบริเวณพื้นที่โครงการ Digital Park Thailand ในพื้นที่ส่งเสริมพิเศษตามนโยบาย EEC จากจุดเชื่อมต่อนี้สามารถต่อตรงจากไทยไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ได้อย่างรวดเร็ว รองรับกับการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเมื่อปลายปีที่ผ่านบริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IG) เพื่อรองรับการขยายตัวของการให้บริการรับส่งข้อมูล (Internet Bandwidth) ระหว่างประเทศที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในระยะยาว
“เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว เรียกว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลต้องการพัฒนา EEC ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างประเทศไทยวันนี้ยังเสียดุลการค้าบนโลกออนไลน์เป็นมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวสำเร็จอาจเป็นจุดเริ่มต้นดึงกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานตั้ง Server ทำให้รัฐบาลไทยสามารถออกกฏหมายเข้าไปกำกับดูแลหรือเก็บภาษีสร้างรายได้ให้ประเทศได้อีกมูลค่ามหาศาลอีกด้วย”
นางปรีญาภรณ์ กล่าว
นายพิชิต สถาปัตยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IG บริษัทย่อย ALT เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่ม Pacific Telecommunication Cuuncil มีแผนเปิดเส้นทางวางเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรอินเดียจำนวน 4 เส้นทางใหม่ เชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถเจรจาเส้นทางวางเคเบิลใต้น้ำดังกล่าวผ่านเข้ามาในไทย ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกเป็นจำนวนมหาศาล
ขณะที่มูลค่าของทั้งตลาดในระยะยาวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการของ ALT เบื้องต้นประเมินว่ามีมูลค่าอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท เพราะบริษัท IG เป็นบริษัทย่อย ALT มีใบอนุญาตก่อสร้างและให้บริการ Submarine Cable Landing Station จำนวน 3 โลเคชั่นในพื้นที่จังหวัดระยอง สตูล และสงขลา นับเป็นความได้เปรียบของบริษัทที่มีความแตกต่างกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเกิดบริษัทจะนำบริการเข้าไปเชื่อมโยงกับโครงการอื่นที่สร้างรายได้ประจำเชื่อว่าจะเป็นส่วนสนับสนุนรายได้ ALT เติบโตได้มั่นคงในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 63)
Tags: ALT, ASEAN, Digital Hub, ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์, พิชิต สถาปัตยานนท์, หุ้นไทย, อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์, เทิร์นอะราวด์, เอแอลที เทเลคอม