นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงการฟื้นฟูการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ (อุตสาหกรรมไมซ์) ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในช่วงโควิด-19 ว่า จำนวนงานในประเทศไทยตั้งแต่พ.ค.63 – มี.ค.64 มีทั้งหมด 938 งาน แบ่งเป็นการประชุมสัมมนา และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลของพนักงานองค์กร 374 งาน งานแสดงสินค้า 312 งาน งานอีเว้นท์ 179 งาน งานประชุมสมาคมวิชาชีพ 73 งาน
สำหรับแผนสนับสุนผู้ประกอบการไมซ์ มีโครงการจัดประชุมปลอดภัยไร้โควิด โดยมีการสนับสนุนงบประมาณ 30,000 บาทต่อสภานที่ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย 216 องค์กรในการจัดเตรียมความพร้อมจัดงาน และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำแนวทางผ่อนคลายในการจัดงานหลังคลายล็อกแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลมอบหมายให้ สสปน. ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน โดยมีงบประมาณสำหรับหน่วยงานที่จัดกิจกรรมนอกสถานที่ ใช้เวลา 1 วัน โดยจะให้งบประมาณ 15,000 บาทต่อการจัดงาน 1 ครั้ง คนร่วมงาน 30-40 คน และ งบประมาณ 30,000 บาท สำหรับหน่วยงานที่จัดกิจกรรมประชุมนอกสถานที่ 2 วัน 1 คืน (จากสถิติ 2 วัน 1 คืนแต่ละกลุ่มใช้งบในการจัดงานมากกว่า 140,000 บาท จึงถือว่าคุ้มทุนที่รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้)
สำหรับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้นคือนับตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.63 ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วนในการดูแลจ้างงาน การอบรมผู้ประกอบการ การเตรียมพร้อมสถานที่จัดงานต่างๆ
ระยะที่ 2 จะร่วมกับภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการจัดประชุม จัดไมซ์อย่างปลอดภัย นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานต่างๆ
ส่วนระยะยาวคือ ตุลาคม 63 – กันยายน 64 เตรียมดึงงานประชุมนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติของไทยตามแผ่นแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
ทั้งนี้ ในปี 2562 อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกิดค่าใช้จ่าย 559,840 ล้านบาท คิดเป็น 3.27% ของ GDP เกิดการจ้างงาน 321,918 อัตรา จัดเก็บภาษีได้ 39,130 ล้านบาท โดยไมซ์ในประเทศมีมูลค่า 279,330 ล้านบาท และไมซ์ต่างประเทศมูลค่า 280,510 ล้านบาท
ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการและความพร้อมในการจัดประชุม นิรรศการ แสดงสินค้าให้ปลอดภัยจากโควิด-19 เป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ไม่อยู่ในที่แออัดและรักษาระยะห่าง ทำความสะอาดจุดสัมผัสที่ใช้ร่วมกัน มีระบบคัดกรองด้วยแพลตฟอร์มไทยชนะ
มาตรการหลัก มีระบบการลงทะเบียนและยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ติดสัญลักษณ์ประจำตัวก่อนเข้างาน ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด มีการควบคุมทางเข้าทางออก จัดระบบคิวตามรอบงาน และลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากและเพิ่มมาตรการใช้แอพพลิเคชั่นที่ทางราชการกำหนด
ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น จุดลงทะเบียน ห้องน้ำ จุดที่มีช่วงพักเบรกของว่าง อาหารกลางวัน ทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น กำจัดขยะทุกวัน การระบายอากาศ ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือปแอลกอฮอล์เจลที่เพียงพอ
มาตรการเสริม คือ การคัดกรองวัดไข้ ผู้ประกอบการ พนักงานบริการและผู้ใช้บริการ เหลื่อมเวลาเปิดและปิดเพื่อลดความแออัด พื้นที่การรอเข้างานและพื้นที่รอคิวจัดให้มีที่นั่ง หรือยืนห่างอย่างน้อย 1 เมตร ให้คำแนะนำผู้ร่วมกิจกรรม ตรวจตราควบคุมกำกับการให้บริการและจัดกิจกรรม ระบบการระบายอากาศ ทำความสะอาดระบบปรับอาการและฆ่าเชื้อ
มาตรการด้านสุขาภิบาลอาหาร จัดบริการอาหารในลักษณะที่ลดการสัมผัสอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น Box Set/Course Menu หลีกเลี่ยงบุฟเฟ่ต์ จัดระยะห่างของโต๊ะรับประทานอาหาร พนักงานสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง
นอกจากนี้ ทีมนักอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งจากกรมอนามัยและหน่วยงานอื่นๆ จะลงไปสุ่มสำรวจระบบน้ำ ระบบแบคทีเรียในน้ำ ในอาหาร คลอรีนในน้ำ ระบบระบายอากาศ คุณภาพอากาศ
“ขอให้มั่นใจว่าห้องประชุมทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ที่จัดนิทรรศการทั้งหมด จะผ่านกระบวนการของการตรวจสอบแน่นอน”
อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 63)
Tags: TCEB, กระทรวงสาธารณสุข, จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ทีเส็บ, พรรณพิมล วิปุลากร, เศรษฐกิจไทย