In Focus: จับตาอนาคตฮ่องกงกับบทบาทฮับการเงินโลก หลังจีนประกาศกฎหมายความมั่นคง-สหรัฐถอดสถานะพิเศษ

ผ่านมาแล้วครึ่งปีพอดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างจะวุ่นวาย เพราะนอกจากทั่วโลกจะกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในบางประเทศแล้ว ก็ยังเกิดข้อพิพาททางการค้าและการเมืองด้วย

หนึ่งในประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นการที่สภานิติบัญญัติจีนเพิ่งไฟเขียวบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวานนี้ ขณะเดียวกัน สหรัฐก็ได้เริ่มกระบวนการถอดสถานะพิเศษฮ่องกง เพื่อเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลจีนในทางอ้อมอันเป็นผลจากกฎหมายดังกล่าว

ความเคลื่อนไหวจากทั้งสองฝั่งนี้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุนเกี่ยวกับบทบาทของฮ่องกงในฐานะฮับการเงินระดับโลกซึ่งฮ่องกงครองตำแหน่งนี้มานานแล้ว

เกิดอะไรขึ้น

เมื่อวานนี้สภานิติบัญญัติของจีน ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง โดยการลงมติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อไม่นานมานี้ ทางการจีนได้เปิดเผยรายละเอียดของกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ซึ่งเผยให้เห็นถึงแผนการจัดตั้งสำนักงานความมั่นคงในฮ่องกง เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง และจัดการกับการก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่ยังจะมีอำนาจเหนือกว่ากฎหมายท้องถิ่นของฮ่องกงที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับกฎหมายฉบับใหม่ของจีน โดยจีนระบุว่า จีนจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อใช้ในการปราบปรามการกระทำที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก การโค่นล้ม การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ รวมทั้งการแทรกแซงกิจการภายใน

ด้านรัฐบาลสหรัฐก็ได้เริ่มกระบวนการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการยกระดับความตึงเครียดกับจีน อันเป็นผลจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จีนพยายามบังคับใช้ในฮ่องกง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสหรัฐได้ยกระดับแรงกดดันต่อจีน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ประกาศความตั้งใจที่จะเริ่มกระบวนการถอดสถานะพิเศษของฮ่องกง ซึ่งสหรัฐได้มอบให้กับฮ่องกงในแง่ของการเก็บภาษีและการออกวีซ่า

กังวลประเด็นการเมืองกระทบภาคธุรกิจ

แม้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวจะดูเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็บ่งชี้ว่า รัฐบาลจีนจะมีอิทธิพลต่อฮ่องกงมากขึ้น จนอาจทำให้ตลาดหุ้นและตลาดเงินของฮ่องกงมีแต่บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ในสัดส่วนที่มากจนทำให้ฮ่องกงไม่อาจเรียกตัวเองได้ว่าเป็นฮับการเงินโลกอีกต่อไป

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฮ่องกงทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระบบการเงินโลกที่เคลื่อนไหวอย่างเสรีเข้ากับระบบการเงินจีนที่ใหญ่และเติบโตแต่อาจไม่เปิดกว้างเท่า ทำให้ฮ่องกงเป็นจุดหมายปลายทางอันสมบูรณ์แบบในสายตานักลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตจนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็ทำให้ฮ่องกงแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ห่างจากมหานครนิวยอร์กและกรุงลอนดอน

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีกฎหมายความมั่นคงเข้ามา ฮ่องกงมีภาพลักษณ์ว่าเป็นช่องทางนำเงินเข้ามาลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องประเด็นทางการเมือง แต่เมื่อมีกฎหมายนี้เข้ามาแล้ว ภาพลักษณ์ดังกล่าวก็เปลี่ยนไป เพราะในอนาคตรัฐบาลจีนอาจเข้ามาควบคุมการลงทุนในฮ่องกงโดยตรง

นอกจากนี้ แม้การที่สหรัฐประกาศเริ่มกระบวนการถอดสถานะพิเศษของฮ่องกงนั้นมีขึ้นเพื่อกดดันจีนซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ตักตวงผลประโยชน์จากฮ่องกงในฐานะฮับการเงินโลก แต่กระบวนการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อฮ่องกงเองด้วย โดยหากฮ่องกงถูกถอดสถานะพิเศษดังกล่าวแล้ว ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบทบาทของฮ่องกงในฐานะแหล่งการลงทุนที่น่าดึงดูดใจรวมถึงการเป็นศูนย์กลางการเงินโลก

เชื่อฮ่องกงยังคึกคัก เพราะมีของดี

นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า อนาคตของฮ่องกงในการรั้งตำแหน่งฮับการเงินโลกต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เนื่องจากฮ่องกงมีข้อได้เปรียบมากมาย ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางระบบการเงินที่เรียกได้ว่าเป็นระดับโลกแล้ว รวมถึงความเป็นสากลและทักษะของบุคลากรในสายการเงินและเทคโนโลยี

สำหรับผลกระทบจากการที่สหรัฐถอดสถานะพิเศษของฮ่องกงนั้น จนถึงขณะนี้ยังเป็นเรื่องของการค้าเป็นหลัก ล่าสุดนั้นรัฐบาลสหรัฐได้ประกาศควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงโดยครอบคลุมเพียงยุทโธปกรณ์และผลิตภัณฑ์ไฮเทค ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าไม่น่าจะกระทบต่อฮ่องกงมากนัก เพราะฮ่องกงเน้นเรื่องการเงินมากกว่า เว้นแต่ว่าสหรัฐจะกีดกันไม่ให้ฮ่องกงเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเป็นจริงแล้วจะทำให้ฮ่องกงเสียหายอย่างเกินแก้ แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ๆ

นอกจากนี้ การที่บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่จะเข้ามามีอิทธิพลในตลาดฮ่องกงมากขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป เพราะสิ่งนี้หมายความว่า ฮ่องกงจะมีเงินลงทุนไหลเข้ามากขึ้นแม้จะมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยในแง่ของธุรกิจแล้ว ฮ่องกงจะยังคงเป็นแหล่งการค้าที่ทำเงินได้ดี ขณะที่นักลงทุนบางรายมองว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะเมื่อมองในแง่หนึ่งแล้ว กฎหมายนี้จะเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงในการปราบปรามการประท้วงที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างเช่นการประท้วงที่ผ่าน ๆ มา

และแม้จะมีบริษัทบางแห่งมีความหวาดกลัวอิทธิพลของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่ได้เห็นผลงานของรัฐบาลจีนในการ “เตือน” บริษัทต่างชาติบางแห่งไม่ให้เข้ามายุ่งกับการเมืองในฮ่องกงอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคและบริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำบางแห่ง แต่ทางธนาคารกลางฮ่องกงก็ได้อัปเดตหนังสือเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนในฮ่องกง โดยชูว่าฮ่องกงเปรียบเสมือนประตูเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีโอกาสการลงทุนอันมหาศาล

คาดฮ่องกงยังมีความสำคัญในระดับโลก แม้จะมีแต่บริษัทจีน

เป็นที่คาดกันว่า ฮ่องกงจะรั้งตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินที่มีความสำคัญในระดับโลกต่อไป แม้จะมีแต่บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะทุกวันนี้ จีนได้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในระดับสากลอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และฮ่องกงก็เป็นช่องทางเดียวที่นักลงทุนต่างชาติ “ไว้วางใจมากพอ” ที่จะใช้เป็นทางผ่านเพื่อลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่

เรย์ ดาลิโอ เจ้าพ่อกองทุนเฮดจ์ฟันด์ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการลงทุน เคยกล่าวไว้ว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนไปโดยจีนกำลังไล่ตีตื้นสหรัฐในการเป็น “อาณาจักรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” ซึ่งเขามองว่า ขณะนี้สหรัฐยังเป็นอันดับหนึ่ง แต่จีนกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ และไต่อันดับแซงประเทศอื่น ๆ จนเหลือเพียงสหรัฐเท่านั้น

การที่จีนมีอิทธิพลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกนั้น ย่อมทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันมาลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ฮ่องกงในฐานะช่องทางการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีความสำคัญในระดับสากลต่อไป โดยอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ เสรี หรือเปิดกว้างมากที่สุด แต่ก็มีความสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top