นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เสนอให้ขยายเวลการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 ก.ค.63
เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ในกลุ่มเสี่ยงสูง และยังต้องควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีความรุนแรงในหลายภูมิภาค รวมทั้งรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศในระยะที่ 5 จึงยังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ทั้งการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย รวมทั้งการกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถใช้บังคับอย่างครอบคลุมในทุกกิจการ/กิจกรรม แบบบูรณาการทั้งพลเรือน ทหารและตำรวจ เพื่อการบริหารจัดการวิกฤตให้เป็นเอกภาพ ลดความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศในระลอกที่สอง
ทั้งนี้ การขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศ ควบคู่กับการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้ ไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแบบปกติของประชาชนและไม่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มุ่งใช้เพื่อป้องกันการรวมตัวที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ขอย้ำให้ทุกคนเข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมายดังกล่าวที่เน้นเป็นกฎหมายรวมให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการเพื่อรับมือกับโควิด-19 เพราะในกฎหมายปกติแต่ละหน่วยงานก็จะดูแลเฉพาะในส่วนที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่ แต่หากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะเกิดมาตรฐานกลางที่ใช้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ส่วนการที่มีบางกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกฯ ยืนยันว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ใช้เพื่อการปิดกั้นประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องขออนุญาตในการดำเนินการตามกฎหมายปกติอยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงการผ่อนคลายระยะที่ 5 ให้กิจการอาบ อบ นวด กลับมาเปิดให้บริการได้ แต่มีข้อกำหนดห้ามค้าประเวณีว่า เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบ หากพบว่าทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ พร้อมย้ำว่าเรื่องเหล่านี้มีข้อกฎหมายกำกับดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเข้มงวดเรื่องการปฏิบัติ ขณะที่ประชาชนผู้ใช้บริการต้องทราบดีว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยไม่ให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ดังนั้นในฐานะรัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมไว้ทุกด้าน ที่สำคัญทุกคนต้องตระหนักและร่วมมือ ไม่ลืมตัว เช่น กรณีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังต้องสามารถปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขได้ เพราะเป็นห่วงประชาชนทุกคน และขอให้เข้าใจว่าถึงแม้จะมามาตรการมากมายในระยะนี้ แต่หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีก็จะนำไปสู่การผ่อนปรนเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 63)
Tags: ครม., นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, ประชุมคณะรัฐมนตรี, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน