เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปี 63 หดตัว -5% ก่อนฟื้นตัวในปี 64

ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะประเทศไทยที่เปิดกว้างทางการค้า และเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว จึงคาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -5% ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ทั้งนี้ อุปสงค์ที่อ่อนตัวลงนำไปสู่การหดตัวของการค้าโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และกระทบกับห่วงโซ่มูลค่าโลก เช่น รถยนต์ ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งในผู้ผลิตที่โดดเด่นของโลก นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบ 15% ของจีดีพี ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากการห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศนับตั้งแต่มี.ค.63

อย่างไรก็ดี ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 64 ที่ 4.1% และปี 65 ที่ 3.6% ซึ่งการกลับมาฟื้นตัวในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้นั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี เศรษฐกิจจึงสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง และต้องอาศัยการตอบสนองทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ

“ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้คนที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง ซึ่งน่าจะได้นำมาตรการที่เสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่อยู่ในภาคการผลิตที่เปราะบางที่สุด และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง”

ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารโลกประมาณการว่า จะมีแรงงาน 8.3 ล้านคน ตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤติโควิดในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้งานโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง          

ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการปกป้องครัวเรือนที่เปราะบาง จึงควรขยายความคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้สูงอายุ และแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกมองข้าม และเสนอว่าควรให้เงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่เปราะบางต่อไป หากเป็นไปได้ควรเชื่อมโยงการให้เงินอุดหนุนคู่ไปกับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และการสนับสนุนด้านอื่นๆ เพื่อช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ ส่วนระยะปานกลาง ประเทศไทยควรพิจารณาโครงการที่จะให้ประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อรองรับกับการแพร่ระบาดของโรคและวิกฤติการณ์อื่นๆ และควรเสริมด้วยการมุ่งเป้าโครงการไปที่กลุ่มคนยากจน          

มาตรการของประเทศไทยถือว่ามีขนาดใหญ่และรวดเร็วในการออกมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมูลค่าของมาตรการคิดเป็น 13% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี ในขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินผลของมาตรการต่างๆ ซึ่งในระหว่างนี้ธนาคารโลกกำลังอยู่ระหว่างติดตามและเก็บข้อมูลจากผลของมาตรการความช่วยเหลือในครั้งนี้         

“ประเด็นที่จะแนะนำเพิ่มเติม เนื่องจากอาจมีประชาชนบางกลุ่มที่ตกหล่นและไม่ได้รับการเยียวยาตามมาตรการของภาครัฐ เช่น กรณีของเด็ก ผู้สูงอายุ และแรงงานต่างด้าว ดังนั้นจึงเสนอให้มีการเพิ่มฐานข้อมูลประชาชนในกลุ่มเหล่านี้เข้าไว้ในโครงการความช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงช่วยในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย”          

นายเกียรติพงศ์ ระบุ 

ในด้านการส่งออกของไทย คาดว่าปีนี้จะหดตัวราว -6.3% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังอ่อนแอ เป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง -3.2% จากมาตรการห้ามเดินทาง และรายได้ที่ลดลงซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปีนี้          

นายเกียรติพงศ์ มองว่า นโยบายการคลังยังมีเพียงพอสำหรับใช้รับมือกับการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งหากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังคงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสถัดไป รัฐบาลอาจขยายมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทออกไปอีกได้ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลยังมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการใช้มาตรการการคลังในส่วนนี้          

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกลับมาพิจารณาสถานะการคลังของประเทศเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการขยายฐานภาษีให้มีความครอบคลุม ซึ่งจะช่วยลดจำนวนหนี้สาธารณะของประเทศลงได้          

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรลงทุนเรื่องนโยบายและโครงการตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โครงการอบรมและบริการจ้างงานต้องมีการปฏิรูปเพือ่สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการเพิ่มทักษะการพัฒนาอารมณ์ทางสังคม รวมถึงทักษะทางปัญญาขั้นสูงและทักษะด้านเทคนิคในระยะยาว โดยนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยืดหยุ่น ในขณะที่พื้นที่การคลังลดลง การฟื้นฟูกันชนทางการคลังขึ้นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ประโยชน์จากรายรับของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมถึงสามารถดำเนินแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตามที่วางแผนไว้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top