- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.00 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,169 คน (+7)
- เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 7 ราย
- ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 35
- รักษาหายแล้ว 3,053 คน (+0)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 58 คน (+7)
- เสียชีวิตสะสม 58 คน (+0)
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 7 รายในสถานกักกันตัวของรัฐ (State Quarantine) ส่วนภายในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องถึง 35 วันแล้ว
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,169 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,053 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 58 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 6 ราย เป็นหญิงไทย 3 ราย อายุ 28, 31 และ 26 ปี ชายไทย 3 ราย อายุ 42, 45 และ 61 ปี เดินทางมาจากอินเดียถึงประเทศไทยในวันที่ 23 มิ.ย.เข้าพักใน State Quarantine และตรวจหาเชื้อในวันที่ 26 มิ.ย.พบเชื้อ รวมทั้งพบว่า 3 รายมีอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น และหายใจลำบาก ส่วนอีก 3 รายไม่มีอาการ
ส่วนอีก 1 ราย เป็นหญิงวัย 27 ปี เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกาถึงไทยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เข้าพักใน State Quarantine ตรวจหาเชื้อในวันที่ 28 มิ.ย.พบเชื้อ โดยมีอาการไอ เจ็บคอ
“ขณะนี้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศต่อเนื่องแล้ว 35 วัน ผู้ป่วยรายสุดท้ายที่พบในประเทศ คือเมื่อวันที่ 25 พ.ค.63 ตอนนี้สถานการณ์ในไทยถือว่าดี จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่ในต่างประเทศยังมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นมาก เรายังคงต้องระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้ป่วยใหม่ในประเทศ และหากจะมี ก็เป็นจำนวนที่ควบคุมได้”
นพ.สุขุมระบุ
อย่างไรก็ดี จากที่จะมีการผ่อนคลายมาตรการให้แก่กิจการและกิจกรรมในระยะที่ 5 เพื่อให้ประชาชนกลับมามีชีวิตที่ปกติ และใช้ชีวิตภายใต้ New Normal นั้น อาจจะยังมีความกังวลถึงการรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจความพร้อมของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตลอดจนยาและเวชภัฑณ์ต่างๆ พบว่า ทั่วประเทศมีจำนวนเตียงรองรับได้ถึง 2 หมื่นกว่าเตียง แบ่งเป็น เตียงสำหรับผู้ป่วย ICU และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 571 เตียง, เตียงสำหรับผู้ป่วยห้องแยกโรค 11,206 เตียง และเตียงทั่วไปใน Hospitel อีก 10,349 เตียง
ส่วนด้านเวชภัณฑ์ มีหน้ากาก N95 อยู่ 1.12 ล้านชิ้น, ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 5.11 แสนชุด และเครื่องช่วยหายใจ 11,096 เครื่อง ขณะที่ยาฟาวิพิลาเวียร์ มีอยู่ในสต็อก 3.19 แสนเม็ด ซึ่งสำหรับรองรับการรักษาผู้ป่วยได้ราว 4,500 คน และคาดว่าจะมีการนำเข้ามาเพิ่มเติมในเดือนก.ค.นี้อีก 4 แสนเม็ด
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศว่า ในขั้นตอนของการทดลองวัคซีนในสัตว์ มีความก้าวหน้าไปมากใน 2 ชนิด จาก 6 ชนิด ซึ่งจะมีการเริ่มทดลองวัคซีนในคนระยะแรกเดือน ต.ค.63 ระยะที่วันที่ 2 ธ.ค.63 และระยะที่ 3 ต้นปี 64 ขณะที่การผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมจะเริ่มต้นผลิตที่ 2-10 ล้านโดส และขยายเป็น 30 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำวัคซีนมาใช้ในคนได้เร็วขึ้นเป็นกลางปี 64 จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี 64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 63)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์ข้อมูลโควิด-19, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19