สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวกับบรรดาผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เกี่ยวกับการรับมือแบบกลุ่มและความสมัครสมานสามัคคีว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยคว้าชัยในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สมเด็จฮุน เซนได้กล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ผ่านการประชุมทางวิดีโอว่า การระบาดใหญ่ส่งผลให้เกิดความท้าทายหลายประการ เช่น ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข การรวมตัวกันและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ต้องหยุดชะงักลง รวมถึงผลกระทบทางสังคมที่รุนแรง และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก
“กลไกพหุภาคีที่ยึดหลักการตอบสนองแบบกลุ่มและความสมัครสมานสามัคคีเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลไกที่อยู่ในกรอบการทำงานของสหประชาชาติ ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในบริบทนี้” เขากล่าว
“ผมขอบอกตามตรงว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาโบ้ยความผิด เลือกปฏิบัติ หรือแบ่งแยกพรรคพวกตามวาระทางการเมืองใดๆ”
สมเด็จฮุน เซนยังกล่าวด้วยว่า กัมพูชาสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเต็มที่ในฐานะผู้นำ และผู้ประสานงานในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก
“ขณะที่ทั่วโลกตั้งตารอความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนให้มาถึงในเร็ววัน กัมพูชาก็ขอเรียกร้องให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” เขากล่าว
สมเด็จฮุน เซนยังระบุด้วยว่า อาเซียนภูมิใจที่ภูมิภาคของเราประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ของภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังต้องเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อมหลังผ่านพ้นช่วงการระบาดของโควิด-19
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อาเซียนควรจัดทำแผนฟื้นฟูอย่างรอบคอบและชัดเจน อันจะเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ต่างๆ สำหรับการอนุมัติการเดินทางข้ามพรมแดนและการค้าภายในภูมิภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นฟูภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้” สมเด็จฮุน เซนกล่าว
นอกจากนี้ เขายังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อแบบดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมกล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้นั้นมีบทบาทสำคัญในการชดเชยผลิตภาพที่สูญเสียไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“เราจะเห็นได้ว่าตลาดและแรงงานมีศักยภาพมหาศาลที่ไม่สามารถดึงออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในภาวะเช่นนี้” เขากล่าว
“นอกจากนี้การหยุดชะงักที่เกิดจากการระบาดใหญ่ยังทำให้เราตระหนักถึงความจำเป็นที่อาเซียนต้องส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มากขึ้น เช่นเดียวกับการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเศรษฐกิจกับระบบดิจิทัลในภูมิภาค ในช่วงเวลาที่อาเซียนกำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตนี้” เขากล่าวเสริม
อาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 โดยมีสมาชิกประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ทั้งนี้ ผู้นำประเทศในกลุ่มอาเซียนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประธานวาระละ 1 ปี โดยเวียดนามเป็นผู้รับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 63)
Tags: COVID-19, กัมพูชา, ประชุมสุดยอดอาเซียน, อาเซียน, เดโช ฮุน เซน, โควิด-19