กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเมินความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ COVID-19” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,214 คน พบว่า ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ COVID-19 ในด้านต่างๆ เฉลี่ย 3.79 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งแปลผลได้ว่ามีความพึงพอใจมาก
โดยด้านที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ 4.23 คะแนน (ความพึงพอใจมากที่สุด) รองลงมาคือ การบริหารจัดการ ควบคุม แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ 4.08 คะแนน (ความพึงพอใจมาก) การบริหารจัดการจัดการเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนและการต่อต้านและป้องกันข่าวลวง (fake news) ได้ 3.43 คะแนนเท่ากัน (ความพึงพอใจมาก)
เมื่อถามว่ากังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในรอบ 2 มากน้อยเพียงใดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 49.5 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีส่วนต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มากน้อยเพียงใดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.7 มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 23.3 มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
สำหรับข้อคำถามจากนโยบายที่นายกฯ แถลงการณ์วันที่ 17 มิ.ย.63 คิดว่าการขับเคลื่อนประเทศด้านใดที่จะช่วยกำหนดอนาคตประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.3 เห็นว่าเป็นด้านความเป็นอยู่ของประชาชน รักษาระยะห่าง ใช้ชีวิต New Normal รองลงมาร้อยละ 42.8 เห็นว่าเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้าต่างประเทศ และร้อยละ 32.5 เห็นว่าเป็นด้านการสาธารณสุข พัฒนาการรักษา วัคซีนป้องกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 63)
Tags: COVID-19, กรุงเทพโพลล์, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, โควิด-19