คุมเข้มการเงินพร้อมปรับตัว รักษาพนง.-ลูกค้ารอวันฟ้าเปิด
สมาคมนิสิตเก่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา PETRA TALK ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ ” SMEs เกือบตายแต่ไม่ตาย ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่รอดได้ในยุคโควิด-19″ แนะตั้ง Scenario สมมติสถานการณ์ตั้งแต่ระยะสั้นไปจนถึงอาจลากยาวไปปีหน้า เพื่อวางแผนบริหารการเงิน-ลดค่าใช้จ่ายประคองตัวให้อยู่รอดทั้งธุรกิจและพนักงาน พร้อมรักษาฐานลูกค้า-คู่ค้า รวมทั้งใช้โอกาสช่วงเริ่มต้นคลายล็อกดาวน์ปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หลังจากสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติเต็มที่ แต่เตือนควบคุมการลงทุนให้เหมาะสม
นายอนันต์ ตรีสิริเกษม หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง KAAN SHOW กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะ KAAN SHOW ซึ่งเป็นการแสดงโชวว์ผสมผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ซึ่งได้รับผลกระทบชัดเจนในช่วงล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นมา หลังจากภาครัฐสั่งปิดบริการในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์ สถานที่จัดประชุม และสถานที่แสดงและการจัดแสดงมหรสพ ทำให้รายได้ของธุรกิจเป็นศูนย์ทันทีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
หลังจากที่ธุรกิจโดนสั่งปิดจากการล็อกดาวน์ สิ่งที่ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจทุกคนต้องทำ คือการหันมาวางแผนเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ในภาวะที่ไม่มีรายได้เข้ามา โดยวางสมมติฐานสถานการณ์ (Scenario) ในระยะเวลาต่างๆ ว่าธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร หากไม่มีรายได้เข้ามาเลยในระยะ 3 เดือน , 6 เดือน และ 12 เดือน เป็นต้น เพื่อนำมาวางแผนบริหารจัดการด้านการเงินและค่าใช้จ่ายให้ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอก้าวผ่านวิกฤติไปได้ รวมถึงเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกให้กับธุรกิจ แม้ว่าจะยังไม่เห็นทางออกชัดเจนมากนักก็ตาม
ขณะเดียวกัน ยังคงต้องดูแลพนักงานควบคู่ไปด้วย เนื่องจากบุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจ KAAN SHOW เป็นการแสดงที่ต้องใช้คนที่มีความสามารถหลากหลายด้านมาร่วมกันขับเคลื่อนทั้ง Onstage และ Backstage ซึ่งจะต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งทีมนักแสดง และทีมงานเบื้องหลังทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้บริษัทเห็นถึงความสำคัญในการรักษาและดูแลของพนักงานทุกคนให้สามารถใช้ชีวิตและดูแลตัวเองและครอบครัวได้ในช่วงที่ธุรกิจประสบปัญหา ส่งผลให้ KAAN SHOW ยังไม่มีการปลดพนักงานออก
“พนักงาน คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องใช้คนในการให้บริการต่างๆ เมื่อวิกฤติมาและธุรกิจได้รับผลกระทบ ก็ห้ามทิ้งพนักงานไป เราต้อง Keep เขาและให้ใจกับเขา ไม่ให้เขาลาจากเราไป เพราะหาก KAAN SHOW ทิ้งทีมนักแสดงและทีมงานเบื้องหลังไป ก็ถือว่าเสียโอกาสที่ปล่อยคนมีความสามารถไป และอนาคตก็ยากที่เขาจะกลับมา ซึ่งโชคดีที่เราให้ใจคนเยอะ ทำให้พนักงานทุกคนยังมั่นใจที่จะอยู่ร่วมฝันฝ่าวิกฤติไปพร้อมกัน”
นายอนันต์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังจะต้องสร้างความสัมพันธ์และติดต่อลูกค้าหรือคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจควรทำ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ลูกค้าหรือคู่ค้ารับทราบว่าธุรกิจยังจะคงดำเนินอยู่เช่นเดิม ไม่ได้หายไปไหนหรือปิดกิจการไปแล้ว อย่างของ KAAN SHOW จะโพส Facebook อย่างสม่ำเสมอเกี่ยวเพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อทำให้ลูกค้าหรือคู่ค้าทุกคนที่ติดตามรับทราบว่า KAAN SHOW ยังคงอยู่ในช่วงที่ธุรกิจถูกสั่งปิด
พร้อมกันนั้น สิ่งที่ธุรกิจจะต้องทำควบคู่ไปด้วย คือ การเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ที่จะเริ่มคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น การปรับปรุงสถานประกอบการในช่วงที่หยุดพักธุรกิจชั่วคราว เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง และร่วมมือกับคู่ค้าทางธุรกิจเตรียมจัดดีลและแคมเปญเพื่อดึงดูดและกระตุ้นความสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่น ปัจจุบัน KAAN SHOW ได้เตรียมทำโปรโมชั่นแพ็คเกจการชมโชว์ร่วมกับโชว์โลมา โชว์ของสวนน้ำ และที่พักในราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวเกิดความสนใจและมาซื้อแพ็คเกจ
นายอนันต์ กล่าวว่า การปรับเข้าสู่โหมดการใช้ชีวิตแบบ New Normal ภาพของการเดินทางท่องเที่ยวมองว่าจะเป็นลักษณะท่องเที่ยวด้วยตัวเองแบบกลุ่มเล็กที่เป็นครอบครัวหรือเพื่อน เป็นต้น ซึ่งการถ่ายทอดการแสดงผ่านช่องทางออนไลน์ ยังไม่สามารถมาทดแทนการเดินทางมาชมการแสดงโชว์สดในสถานที่จัดแสดงได้ เพราะเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการออกมาพบปะกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทำให้คนยังต้องการเดินทางออกมาท่องเที่ยวตามเดิม แต่รูปแบบและลักษณะการท่องเที่ยวอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่มีสิ้นสุดลงอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวที่อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมนั้น อยากเตือนให้ผู้ประกอบการทุกคนตัดสินใจให้ดีก่อนลงทุน ต้องคิดและพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างรอบคอบ และอย่าลงทุนมากเกินไป เพราะเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น อย่างเช่น โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดแบบเฉียบพลัน และใช้ระยะเวลานานกว่าจะฟื้นตัว ภาระหนี้ที่สร้างขึ้นจากการลงทุนมาก จะทำให้ผู้ประกอบการเหนื่อยและลำบากในช่วงวิกฤติ ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญในการตัดสินใจ
“ที่ผ่านมา KAAN SHOW ขยายการลงทุนไปเยอะมาก มันถือเป็นความผิดพลาดของ Over Investment ของเรา ทำให้ตอนนี้เราก็เหนื่อยและลำบากกว่าคนอื่นหน่อย แต่ถือเป็นบทเรียนของเราที่ต้องทยอยแก้ปัญหา อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนพิจารณา Scale การลงทุนให้แม่น ลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ไม่เหนื่อยมากเมื่อสิ่งที่เราไม่คาดฝันมาถึง”
นายอนันต์ กล่าว
ด้านนายอธิป บุญญนันท์กิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท เอสที เดอลุกซ์ ทัวร์ จำกัด และเถกิงทัวร์ กล่าวว่า ธุรกิจทัวร์ของบริษัทเน้นไปที่การพาคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณของผลกระทบเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือน ก.พ.หลังจากนักท่องเที่ยวเกิดความกังวลการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะเชื้อโควิดได้แพร่ระบาดออกมานอกประเทศจีน รวมถึงกังวลว่าหากเดินทางไปแล้วกลับมาต้องถูกกักตัว ทำให้เริ่มชะลอและหยุดการท่องเที่ยว จนกระทั่งมาถึงการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงัก รายได้เป็นศูนย์มาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว
หลังจากธุรกิจทัวร์ได้รับผลกระทบมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวแทบทุกรายไม่คาดคิดว่าจะรุนแรงและลากยาวถึงขนาดนี้ เพราะสถานการณ์แตกต่างจากช่วงการแพร่ระบาดไข้หวัดนก ซาร์ และเมอร์สในอดีต ทำให้การประเมินผลกระทบผิดพลาดไปบ้าง และเตรียมตัวได้ไม่ครอบคลุมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้การตั้งหลักกลับมาอาจจะช้าไปเล็กน้อย
“ผลกระทบที่เกิดขึ้น มาถึงตอนนี้ถือว่าหนักพอสมควร ตอนแรกที่ประเมินกับคู่ค้าทางธุรกิจ ทั้งสายการบินและโรงแรมก็มองว่าน่าจะจัดการได้เร็วแบบไข้หวัดนก ซาร์ และเมอร์ส ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่ามีผลกระทบ แต่ก็ถือว่าเตรียมตัวได้ไม่พอกับผลกระทบที่รุนแรง จนรายได้ของธุรกิจเป็นศูนย์ 100% มาต่อเนื่อง 4 เดือน และยังมองว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเราไปจนถึงปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า ทำให้เราต้องวางแผนร่วมกับพนักงานว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจต่อไป”
นายอธิป กล่าว
สำหรับธุรกิจทัวร์นั้น พนักงานถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทำให้ในช่วงที่บริษัทต้องหยุดชั่วคราว แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องช่วยเหลือพนักงานให้มีเงินเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งบริษัทได้เปิดให้พนักงานหารายได้เสริมด้วยการนำสินค้ามาจำหน่ายผ่าน Facebook ของบริษัทที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนราย
รวมทั้งให้พนักงานใช้เวลาว่างเพิ่มทักษะทางภาษา และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเที่ยว พัฒนางานด้านการบริการ ขณะที่บริษัทก็ได้นำสินค้ามาจำหน่ายบน Facebook ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสินค้าที่ลูกค้าที่เคยใช้บริการท่องเที่ยวของบริษัทชื่นชอบ อย่างเช่น น้ำจิ้มอาหารประเภทต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเข้ามาบ้าง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
นายอธิป กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันการบริหารจัดการด้านการเงินของบริษัท ได้เน้นไปที่การรักษากระแสเงินสดและสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงที่หยุดพักชั่วคราว และเพียงพอต่อรายจ่ายทั้งหนี้สินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยวางแผนการจัดการด้านการเงินตามระยะเวลาของ Scenario ต่างๆ เพื่อวางแผนรับสถานการณ์ในทุกรูปแบบ เพราะยอมรับว่าธุรกิจทัวร์ที่พาคนไทยออกไปนอกประเทศคงยังไม่กลับมาเร็ว เนื่องจากยังมีความกังวลอยู่
พร้อมกับการเตรียมตั้งสำรองฯรองรับการหยุดให้บริการของสายการบินและโรงแรม เพื่อเตรียมเงินที่ลูกค้าจ่ายซื้อทัวร์ไปแล้วนำมาคืนให้กับลูกค้า และช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ในการติดตามขอคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินและค่าที่พักในโรงแรมที่ลูกค้าได้จองผ่านบริษัท เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของบริษัทไว้ให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าบริษัทจะไม่ทิ้งไปแม้ว่าจะเผชิญกับปัญหา ซึ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญของการยึดผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดความประทับใจและยังคงกลับมาใช้บริการของบริษัทเมื่อทุกอย่างกลับมาปกติแล้ว
“เราต้องเอาใจเราไปใส่ใจลูกค้า เพราะถ้าเขาไม่ได้ไปจากเหตุโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทุกคนไม่คาดคิด ลูกค้าก็ควรได้ได้เงินคืน และไม่ควรปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง เพราะถ้าปล่อยนานเกิดไปความรู้สึกของลูกค้าจะแย่ และเขาก็จะหายไปและไม่กลับมาหาเรา ถ้าปัญหาเกิดขึ้นเราควรรีบแก้ไข ต้องติดต่อกับลูกค้าแจ้งให้เขาทราบตลอด ถือว่ายอมเสียแต่ได้รับความเชื่อใจ แล้วเมื่อทุกอย่างปกติลูกค้าจะกลับมา ทำให้เรายึดผลประโยชน์ลูกค้ามากที่สุด”
นายอธิป กล่าว
ในด้านคู่ค้าของบริษัททั้งสายการบินและโรงแรม ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการประกอบธุรกิจเช่นกัน โดยหลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น บริษัทได้ติดต่อสายการบินและโรงแรมเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มทัวร์ที่จองไปแล้วแต่ไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งจะต้องคืนเงินให้กับลูกค้า โดยทางคู่ค้าก็ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี มีแนวทางให้กับบริษัทได้เลือก ทำให้เห็นว่าสิ่งที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง คือ การมีคู่ค้าที่ดี
ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวต่างประเทศหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 มองว่าการเดินทางท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่ 20-40 คนที่ใช้ไกด์นำเที่ยว 1 คนจะหายไป เพราะคนยังมีความกังวลอยู่หากไม่มีวัคซีนออกมา เชื่อว่าจะเห็นการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะกลุ่มเล็กที่เป็นกลุ่มครอบครัวและกลุ่มเพื่อนมากขึ้น และสิ่งที่ในฐานะที่ทัวร์ต้องทำ คือ การสร้างความมั่นใจให้กับลูกทัวร์ตลอดทริป และการบริการงานเอกสารต่างๆ เพื่อทำให้การเดินทางตั้งแต่สนามบินจนถึงกลับมายังบ้านมีความปลอดภัยและราบรื่น ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และประทับใจการบริการ ส่งผลให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้งและบอกต่อ
“การเดินทางท่องเที่ยวหลังจากนี้ ก็คงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้น แต่งานของเราเป็นงานบริการที่จะเข้ามาช่วยให้ลูกค้าเกิดความสะดวกสบายมากขึ้นในการท่องเที่ยว พร้อมกับความปลอดภัยที่เรามีความเข้มงวด เพื่อทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการเราเกิดความมั่นใจตั้งแต่เจอที่สนามบินจนถึงกลับมาบ้าน”
นายอธิป กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 63)
Tags: KAAN SHOW, PETRA TALK, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ท่องเที่ยว, อธิป บุญญนันท์กิจ, อนันต์ ตรีสิริเกษม, เอสที เดอลุกซ์ ทัวร์