บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน ศูนย์กลางธุรกิจ E-Commerce และศูนย์เทคโนโลยีด้านอากาศยาน
กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้คัดเลือก BGRIM เป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ พื้นที่ 100 ไร่ เพื่อดำเนินการด้านสาธารณูปโภค โครงการงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยจะผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดตามแนวคิดหลักของพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขนาดกำลังการผลิตรวม 95 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Energy Storage :ESS) ขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh)
รวมถึงจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เมื่อสนามบินมีการพัฒนาสูงสุดและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 95 เมกวัตต์ และเสริมความมั่นคงด้วยการสำรองไฟฟ้า 100% ทั้งนี้ ความร้อนที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าได้นำมาเปลี่ยนเป็นระบบน้ำเย็น สำหรับระบบปรับอากาศสนามบิน ทำให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM กล่าวว่า บริษัทได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถดำเนินงานตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาได้ทันที โดยโรงไฟฟ้าแบบไฮบริด สำหรับโครงการดังกล่าวพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อย่างสมบูรณ์ในปี 67 และถือเป็นโรงไฟฟ้าไฮบริดแบบผสมผสานเทคโนโลยีทั้ง 3 ระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด มีประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ทั้งยังปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 95 เมกะวัตต์ ตามโครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.8 พันล้านบาท สำหรับป้อนสนามบินอู่ตะเภา 40 เมกะวัตต์, รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง,สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) ไม่น้อยกว่า 20 เมกะวัตต์ และรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าเดิมของกองทัพเรือที่มีอยู่ 60 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะย้ายมาใช้ไฟฟ้าของกลุ่มบริษัท โดยความต้องการใช้ดังกล่าวนับว่าเกินปริมาณกำลังผลิต 95 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากโครงการยังมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำให้รองรับปริมาณส่วนเกินดังกล่าวได้
หลังจากนี้บริษัทเตรียมคัดเลือกผู้ค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า และระบบน้ำเย็น-ไอน้ำ ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยขณะนี้มีผู้จำหน่าย LNG ในต่างประเทศกว่า 20 รายได้เสนอขาย LNG ให้บริษัท ซึ่งขณะนี้นับเป็นตลาดของผู้ซื้อ เพราะปริมาณ LNG มีมากกว่าความต้องการใช้
สำหรับขั้นตอนการนำเข้า LNG จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอขยายปริมาณการนำเข้า LNG อีก 1 แสนตัน/ปี จากเดิมที่บริษัทได้รับอนุญาตให้นำเข้า 6.5 แสนตัน/ปี เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท กำหนดเริ่มนำเข้าทั้งจำนวน 6.5 แสนตัน และส่วนเพิ่มอีก 1 แสนตันในปี 65
ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของสัญญาที่บริษัทได้รับอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ที่สามารถขอขยายการนำเข้า LNG เพิ่มเติมได้หากมีความต้องการใช้ที่ชัดเจนและเป็นการนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ขนาด 95 เมกะวัตต์ นับเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสามารถยื่นขอขยายปริมาณนำเข้า LNG ได้
ทั้งนี้ สัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ มีอายุ 29 ปี 6 เดือน โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 2 ปีครึ่ง มีอัตราค่าเช่าที่ดิน แบ่งเป็น ค่าเช่าที่ดิน 3% ของมูลค่าที่ดิน และส่วนแบ่งรายได้ 15% จากการขายไฟฟ้า และราคาขายไฟฟ้าเป็นอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาจำหน่ายในนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 63)
Tags: BGRIM, ตลาดหุ้น, บี.กริม เพาเวอร์, ปรียนาถ สุนทรวาทะ, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า